นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า หลังจากผู้ผลิตเบียร์ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาด เป็นเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์นั้น กรมฯ อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อขอเปิดพิกัดภาษีใหม่สำหรับเก็บภาษีสรรพสามิตเบียร์แอลกอฮอล์ 0% โดยตรง ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีและป้องกันไม่ให้กลุ่มเยาวชนทดลองดื่มเบียร์แอลกอฮอล์ 0% เพิ่มมากขึ้น แม้จะไม่มีแอลกอฮอล์ก็ตาม
ปัจจุบันเบียร์แอลกอฮอล์ 0% มีขายในท้องตลาดหลายยี่ห้อ ราคาตั้งแต่กระป๋องละ 39-99 บาทขึ้นอยู่กับปริมาณ แต่การจัดเก็บภาษีใช้ฐานเดียวกับน้ำอัดลม ที่มีอัตราภาษีประมาณ 14% ของราคาขายปลีก ซึ่งคิดเป็นเนื้อภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ 5-12 บาท/กระป๋องเท่านั้น แต่การจะเก็บภาษีเบียร์แอลกอฮอล์ 0% ในฐานภาษีเดียวกับเบียร์ทั่วไปก็ทำไม่ได้ เพราะไม่เข้าเกณฑ์ ดังนั้นจึงมาดูว่าจำเป็นจำต้องมีการออกพิกัดภาษีใหม่ให้ครอบคลุมสินค้ากลุ่มนี้ โดยอัตราภาษีจะต่ำกว่าเบียร์ปกติ แต่สูงกว่าเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงหลังสงกรานต์
"การขอเปิดพิกัดใหม่เพื่อจัดเก็บภาษีเบียร์แอลกอฮอล์ 0% นี้ จำเป็นต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เนื่องจากเป็นการเก็บภาษีสำหรับเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมที่ต่ำกว่า 0.5% ซึ่งเครื่องดื่มในลักษณะดังกล่าวไม่ได้มีเพียงเบียร์แอลกอฮอล์ 0% เท่านั้น แต่ยังมีสินค้าประเภทอื่น ๆ เช่น ยาบางประเภท อาทิ ยาแก้ไอ ยาแก้ท้องเสีย ก็มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ตามเกณฑ์ที่กำหนดด้วย ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่าหากมีการออกพิกัดเพื่อเก็บภาษีสินค้าในส่วนนี้จะมีผลกระทบอย่างไร"นายพชร กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้สั่งให้กรมสรรพสามิตศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนก่อนเปิดพิกัดภาษีใหม่ ซึ่งหากได้ข้อสรุป กรมฯ สามารถเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา และออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อประกาศใช้ได้ทันที
นอกจากนี้ กรมฯ ได้มีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีความเป็นห่วงอย่างมากต่อเครื่องดื่มประเภทนี้ เพื่อหวังไม่เป็นการกระตุ้นหรือเปิดช่องทางให้กลุ่มเยาวชนเข้าถึงการดื่มเบียร์ ทั้งที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์มากขึ้น จึงได้สั่งห้ามไม่ให้เรียกว่าเบียร์ และไม่ให้โฆษณาว่าเป็นเบียร์ แต่ให้เรียกว่า "เครื่องดื่มมอลต์" แทน