นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงผลการประเมินทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาล จาก 11 โครงการ ระหว่างปี 2559-2561 พบว่า การดำเนินโครงการนโยบายรัฐของ ธ.ก.ส. ประสบความสำเร็จอย่างมากทางด้านเศรษฐกิจ โดยในภาพรวม เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ SME เกษตร หลังจากการเข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้น 26.49% (เกษตรกร มีรายได้เฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้น 5,128 บาทต่อราย สหกรณ์การเกษตร มีรายได้ต่อปีเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 15.72 ล้านบาทต่อแห่ง และผู้ประกอบการ SME เกษตร มีรายได้ต่อปีเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.46 ล้านบาทต่อราย) มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น 21.83% คุณภาพผลผลิตดีขึ้น 2.86% มีทักษะในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น 9.16% ต้นทุนการผลิตลดลง 5.07% มีช่องทางการตลาดและจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 1.23% มีอำนาจในการต่อรองทางการตลาดเพิ่มขึ้น 2.94% มีแหล่งวัตถุดิบเพิ่มขึ้น 2.86% และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.13%
นอกจากนี้ ยังส่งผลเชิงบวกด้านสังคม โดยภาพรวมหลังจากเข้าร่วมโครงการ เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ SME เกษตร มีโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินของรัฐเพิ่มสูงขึ้น 23.71% เข้าถึงความรู้ทางการเงินเพิ่มมากขึ้น 22.24% และมีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดีขึ้น 4.09% ในส่วนของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติ รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีโอกาสใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
ด้านผลการประเมินบทบาทต่อการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) และประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) โดยวิเคราะห์ผ่านตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) พบว่า การขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ของ ธ.ก.ส. สามารถสร้างผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment: SROI) เท่ากับ 1.48 ถึง 1.85 ด้านเศรษฐกิจ การจ่ายเงินกู้ในปีบัญชี 2560 มูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 257,727 ล้านบาท สามารถสร้างผลประโยชน์ได้รวมทั้งสิ้น 380,270 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรและธุรกิจแปรรูปการเกษตรที่ ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อ อาทิ การทำไร่อ้อย การทำข้าวโพด การทำนา รวมทั้งธุรกิจภายในประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรมและธุรกิจการแปรรูปการเกษตร อาทิ ปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน เท่ากับ 1.48 หรือการจ่ายเงินกู้ของ ธ.ก.ส. มูลค่า 1 บาท สามารถสร้างประโยชน์สู่สังคมคิดเป็นมูลค่า 1.48 บาท
ด้านสังคม การจัดสรรเงินลงทุนด้านพัฒนาชุมชน ปี 2556-2558 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 518 ล้านบาท สามารถสร้างผลประโยชน์ได้รวมทั้งสิ้น 764 ล้านบาท โดยผลประโยชน์จะเกี่ยวข้องกับการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชุมชนและสร้างวินัยทางการเงิน รวมทั้งเกี่ยวกับการรวมกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มการเงินและเครือข่ายในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน เท่ากับ 1.48 หรือเงินลงทุนด้านพัฒนาชุมชน มูลค่า 1 บาท สามารถสร้างประโยชน์สู่สังคมคิดเป็นมูลค่า 1.48 บาท
ด้านสิ่งแวดล้อม การจัดสรรเงินลงทุนด้านพัฒนาสิ่งแวดล้อม ปี 2556-2558 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 762 ล้านบาท สามารถสร้างผลประโยชน์ได้รวมทั้งสิ้น 1,408 ล้านบาท โดยผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการสร้างมูลค่าของทรัพย์สินจากต้นไม้ที่ปลูก การมีแหล่งน้ำใช้ทำการเกษตร รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน เท่ากับ 1.85 หรือเงินลงทุนด้านพัฒนาสิ่งแวดล้อม มูลค่า 1 บาท สามารถสร้างประโยชน์สู่สังคมคิดเป็นมูลค่า 1.85 บาท
สำหรับโครงการของ ธ.ก.ส.ในการสร้างความยั่งยืนและประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการธนาคารต้นไม้ โครงการสร้างฝายชะลอน้ำให้ชุมชนทั่วประเทศ โครงการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) และโครงการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับสู่ชุมชนอุดมสุข นายสมเกียรติกล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ร่วมกับ สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ประเมินจาก 11 โครงการ ระหว่างปี 2559-2561 โดยกลุ่มตัวอย่าง คือ เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ SME เกษตร รวมทั้งสิ้น 1,223 ตัวอย่าง