ทั้งนี้ นับเป็นปีที่ 13 ตั้งแต่ปี 2550 ที่ไทยได้รับสิทธิโควตายกเว้นภาษีนำเข้าทั้งหมดหรือบางส่วน สำหรับสินค้าเกษตรที่ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า คือ กล้วยสด และสับปะรดสด ในส่วนของเนื้อสุกรปรุงแต่งเสียภาษีนำเข้าเพียง 16% จากอัตราภาษีนำเข้าปกติของกล้วยสดอยู่ที่ 20 - 25% สับปะรดสด 17% และเนื้อสุกรปรุงแต่งอยู่ที่ 20% ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงมาก
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวว่า สำหรับผู้ส่งออกที่จะขอใช้สิทธิโควตาภาษีตามความตกลง JTEPA จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ ผู้ส่งออกกล้วยสดต้องมีรายชื่อและได้รับจัดสรรปริมาณส่งออกตามที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด ในส่วนผู้ส่งออกเนื้อสุกรปรุงแต่ง ต้องมีรายชื่อตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด โดยต้องส่งออกจากโรงงานแปรรูปเนื้อสุกรที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานสุขอนามัยของประเทศญี่ปุ่นแล้วเท่านั้น สำหรับผู้ส่งออกสับปะรดสดสามารถขอใช้สิทธิประโยชน์ได้เป็นการทั่วไป โดยสินค้าสับปะรดสดและเนื้อสุกรปรุงแต่ง โดย กรมฯ จะออกหนังสือรับรองโดยใช้หลักการยื่นขอก่อนได้รับสิทธิก่อน (First come, first served) จนกว่าจะครบปริมาณตามที่กำหนด ซึ่งรายละเอียดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการขอใช้สิทธิต่างๆ จะระบุอยู่ในประกาศกรมการค้าต่างประเทศดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสามารถยื่นขอหนังสือรับรองประกอบการส่งออก ซึ่งได้แก่ (1) หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: Form JTEPA) และ (2) หนังสือรับรองการได้รับสิทธิยกเว้นภาษทั้งหมดหรือบางส่วน(Certificate of Tariff Rate Quota) เพื่อนำไปยื่นต่อศุลกากรประเทศญี่ปุ่นในการลดภาษีนำเข้าต่อไป
นายอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการขอใช้สิทธิโควตาส่งออก JTEPA ปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนค่อนข้างน้อยโดยเฉพาะสับปะรดสด และกล้วยสด โดยพบว่าสับปะรดสด มีผู้ขอใช้สิทธิเพียง 1.6% หรือปริมาณ 5.2 ตันเท่านั้น สาเหตุหลักจากข้อจำกัดเรื่องขนาดน้ำหนักสับปะรดที่ต้องไม่เกิน 900 กรัมต่อผล สำหรับกล้วยสดมีผู้มาขอใช้สิทธิเพียง 24.3% หรือปริมาณ 1,947.72 ตัน เนื่องจากมีผลผลิตไม่มากพอที่จะตอบสนองกับความต้องการบริโภคในประเทศ และมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในปริมาณที่มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ส่งผลให้ผลผลิตไม่เพียงพอที่จะส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับผลผลิตกล้วยสดจะต้องควบคุมให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่นอีกด้วย ผู้ส่งออกไทยจึงไม่สนใจที่จะส่งออกไปยังญี่ปุ่นมากนัก สำหรับเนื้อสุกรปรุงแต่ง ได้รับสิทธิ 1,200 ตันต่อปี มีผู้มาใช้สิทธิเต็มโควตาทุกปี