(เพิ่มเติม) กสทช.ประกาศเปิดประมูลคลื่น 700MHz แต่เริ่มใช้คลื่น-จ่ายเงิน 1 ต.ค.63 เริ่มขั้นตอนผ่อนผันค่ายโทรมือถือ-ทีวีดิจิทัล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 17, 2019 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า จากคำสั่ง คสช.ที่ให้ผู้รับใบอนุญาตคลื่น 900 MHz สามารถขยายเวลาการจ่ายค่าใบอนุญาตงวดสุดท้ายออกไป 10 งวกปี จากปี 63 นับตั้งแต่วันที่เริ่มจ่ายใบอนุญาต ซึ่งคือในปี 59 หรือขยายเป็นปี 69 และกำหนดให้ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันต้องเข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz โดยให้แจ้งความจำนงภายในวันที่ 10 พ.ค.62

ทั้งนี้ กสทช.จะเปิดประมูลคลื่น 700MHz จำนวน 15 MHz 3 ใบอนุญาต ๆ ละ 15 MHz ในเดือนมิ.ย.นี้ เป็นการประมูลล่วงหน้า โดยกำหนดให้จ่ายค่าใบอนุญาต พร้อมกับการใช้งานจริงในวันที่ 1 ต.ค.63 ขณะที่หลักเกณฑ์การประมูลจะออกประกาศภายในปลายเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งระหว่างนั้นจะมีการจัดตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อม รวมทั้งการประเมินค่าคลื่น 700MHz ด้วย

ส่วนธุรกิจทีวีดิจิทัลจะมีคณะทำงานต่าง ๆ ขึ้นมาพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการผ่อนผัน ได้แก่ อนุกรรมการวิธีการชดเชยการคืนใบอนุญาต หลักเกณฑ์การรับหลักประกันคืน ทั้งหมดจะใช้เวลา 2 เดือน หรือ มิ.ย.

"การออกคำสั่งตามมาตรา 44 เกี่ยวกับทางด้านโทรคมนาคม โดยการใช้สิทธิตามมาตรา 44 ที่ออกมา จะมีการแบ่งงวดการชำระเงินออกเป็น 10 งวด ซึ่งผู้ที่ต้องการใช้สิทธิดังกล่าว จะต้องยื่นเรื่องต่อสำนักงาน กสทช.ภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้ หรือภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.62 เป็นต้นไป และหากยื่นสิทธิดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ที่จะเปิดประมูลในเดือนมิ.ย.นี้ ให้ถือว่าสิทธิ์นั้นถูกยกเลิกไป"นายฐากร กล่าวภายหลังการประชุมกับผู้ประกอบการโทรมือถือและทีวีดิจิทัลเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายระเอียดต่าง ๆ ที่ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการมีมาตรการช่วยเหลือ

สำหรับการชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ตามคำสั่ง คสช. จะแบ่งออกเป็น 10 งวด จากการนำเงินจากการประมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้น ซึ่งในส่วนของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) จำนวนกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท และบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS จำนวนกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท รวม 1.4 แสนล้านบาท นำไปหาร 10 ปี โดยปีที่ 1 คือปี 59 ทั้งสองรายมีการชำระเงินค่าประมูลเข้ามาในจำนวน 17,206 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการทั้งสองรายจะต้องมีการจ่ายเงินเพิ่มเติมให้กับทางกสทช.

ส่วนในปี 60 ที่ไม่มีการชำระเงิน ผู้ประกอบการก็จะต้องมีการชำระเงินเข้ามาเต็มจำนวนทั้งสองงวด ขณะที่ในปี 61 มีการชำระเงินเข้ามาเพียง 12,904 ล้านบาท และในปี 62 มีการชำระเงินไป 8,603 ล้านบาท ทำให้ในปี 63 เมื่อมีคำสั่ง คสช.ออกมา เดิมรัฐจะมีรายได้เกิดขึ้น 130,328 ล้านบาท จะเหลือเป็น 54,800 ล้านบาท และทยอยจ่ายเพิ่มเติมไปอีก 4 งวด โดยจะสิ้นสุดการชำระเงินในปี 69 รวมทั้งสิ้นรัฐจะมีรายได้จำนวน 203,317 ล้านบาท

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่จะได้รับสิทธิดังกล่าวจะต้องเข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นราคาประมูลต่ำสุดไม่น่าจะต่ำกว่า 25,000 ล้านบาทต่อหนึ่งใบอนุญาตขนาด 15 MHz โดยใบอนุญาตฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.63 ฉะนั้นผู้ประกอบการที่เข้าประมูลจะจ่ายเงินจริงในเดือน ต.ค.63 ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้ที่เกิดจากการประมูลอย่างน้อย 75,000 ล้านบาท ของจำนวน 3 ใบอนุญาต จากเดิมในปี 63 รัฐจะมีรายได้ 54,800 ล้านบาท จะกลายเป็น 62,300 ล้านบาท และในปี 64 รัฐจะมีรายได้เกิดขึ้น 27,000 กว่าล้านบาท จนไปถึงปี 72 รวมทั้งสิ้นรัฐจะมีรายได้เกิดขึ้น 278,317 ล้านบาท

นายฐากร กล่าวว่า ผู้ประกอบการโทรคมนาคมสามารถยื่นขอรับสิทธิขยายเวลาการชำระค่าคลื่น 900 MHz ภายในวันที่ 10 พ.ค.62 และให้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz รายละ 15 MHz ในราคาประเมินเบื้องต้น 2.5 หมื่นล้านบาท/ใบอนุญาต แต่หากผู้ประกอบการรายใดไม่ใช้สิทธิ ก็จะให้เปิดประมูลเป็นการทั่วไป และจ่ายงวดค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ตามเดิม 4 งวด

"3 ค่ายถ้ารับสิทธิก่อน ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz แต่ถ้าไม่ใช้สิทธิ ก็จะเปิดประมุลทั่วไป...เรา set zero ด้านโทรคมนาคม ทีวี รัฐและผู้ประกอบการก็ได้ประโยชน์"นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า ส่วนคลื่น 2600MHz , 26 และ 28GHz ประมูลแบบ Multi Band คาดประมูลในปลายปี 63 ส่วนคลื่น 1800 MHz อยู่ระหว่างการหารือในคณะกรรมการ กสทช. และคลื่น 3500 MHz เบื้องต้นจะเรียกคืนกับกระทรวงดีอี แต่ทางกระทรวงดีอีแจ้งว่าจำเป็นต้องใช้กับดาวเทียม

ขณะที่หลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่คาดว่าจะสามารถเห็นความชัดเจนได้ภายในปลายเดือนพ.ค.นี้ โดยผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะต้องแจ้งยื่นสิทธิเข้ามาก่อนให้ทันตามเวลาที่กำหนดเพื่อรักษาสิทธิไว้ และเมื่อหลักเกณฑ์ฯ ออกมาเรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่จะถอนสิทธิก็สามารถรับคืนหลักประกันกลับไปได้ ซึ่ง กสทช. จะมีการจัดโฟกัสกรุ๊ปกับผู้ประกอบการทั้งสามค่ายอีกครั้งหนึ่งหลังหลักเกณฑ์ฯ ออกมา

ด้านนายวีระวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร ADVANC กล่าวว่า ระยะเวลาในการจัดประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz ค่อนข้างสั้น เนื่องจากหลักเกณฑ์การประมูลต่างๆ ยังไม่เรียบร้อย ขณะที่ราคาประมูลก็ยังสูง โดยเห็นว่าไม่ควรนำเอา 900 MHz มาเป็นพื้นฐาน เนื่องจากการให้บริการเทคโนโลยี 5G ต้องใช้ระยะเวลาเตรียมการอย่างน้อย 2 ปี และหากภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใช้งานรายสำคัญไม่ตื่นตัวเกี่ยวกับ 5G ก็คงจะใช้เวลาอีกนาน

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กล่าวว่า DTAC รับทราบการขยายระยะเวลาชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ซึ่งเป็นการยืนยันว่าราคาคลื่นความถี่ของประเทศไทยสูงเกินไป DTAC จะหารือกับทาง กสทช.เพื่อความชัดเจนเพิ่มขึ้นจากคำสั่งฯในเรื่องมาตรการดังกล่าว ก่อนที่จะพิจารณาตัดสินใจดำเนินการต่อไป

DTAC ยังยืนยันตามได้เคยแจ้งไว้กล่าวคือสนับสนุน กสทช.ในการจัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ที่ชัดเจน รวมถึงการกำหนดช่วงเวลาที่จะนำคลื่นมาจัดสรรล่วงหน้า และการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ ทั้งหมดที่จะถูกนำมาจัดสรรอย่างเหมาะสมก่อนที่จะดำเนินการประมูลครั้งต่อไป

ทั้งนี้ ใบอนุญาตคลื่นความถี่มีอายุ 15 ปี และจะมีการลงทุนไม่น้อยเลยหรือเป็นแสนล้านบาท กสทช.จึงควรกำหนดให้ชัดเจน เกี่ยวกับ Spectrum Roadmap ไม่ใช่ประกาศประมูลคลื่นความถี่เป็นก้อนๆ ในภาพการลงทุนควรจะเห็นแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ชัดเจนจะได้วางแผนการลงทุนได้ ไม่ใช่ออกมาประมูลเป็นรอบๆ อย่างไรก็ตาม DTAC จะขอใช้สิทธิก่อน

นายอติรุฒน์ โตทวีแสนสุข รองประธานคณะกรรมการบริหาร TRUE กล่าวว่า จากการประมูลคลื่นความถี่ที่ผ่านมาทั้ง 3G และ 4G ทั้งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็มีการแบกรับภาระมากขึ้น โดยเฉพาะ 900 MHz ถือได้ว่ามีราคาคลื่นความถี่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เมื่อเทียบกับรายได้ต่อหัวของประชากร ทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมปัจจุบันนี้ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน และมีการเติบโตช้าลง หรือไม่มีการเติบโตเลย เห็นได้จากค่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในช่วงเวลาที่ตั้งแต่มีการประมูลเป็นต้นมารายได้หายไปกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นผลกระทบมาก

และด้วยความเข้าใจของรัฐบาลและกสทช. ทราบดีว่าการที่จะผลักดันให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าให้มีศักยภาพและแข่งขันได้ จะต้องนำคลื่นความถี่ 5G เข้ามาใช้ เพื่อสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งตรงนี้ส่วนหนึ่งก็ดีต่อประเทศ แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นภาระของผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกราย การที่มีมาตรการผ่อนผัน หรือหลายประเด็นที่ผู้ให้บริการฯ ได้เสนอไป เชื่อว่าในเรื่องเหล่านี้จะประกอบอยู่ในรายละเอียดที่ทางกสทช.มีความเข้าใจอย่างดีจะต้องเร่งและนำมาสื่อสารต่อสาธารณะต่อไป โดยเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งจะต้องก้าวข้ามกรอบจำกัด และเชื่อว่ามีระยะเวลาเป็นตัวกดดัน ก็หวังว่ารายละเอียดจะออกมาโดยเร็ว โดยในส่วนของบริษัทฯ เองก็จะมีการรายงานเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาต่อไป

*ทีวีดิจิทัลขอใช้สิทธิ

นายฐากร กล่าวว่า ส่วนทีวีดิจิทัล คำสั่ง คสช.เปิดให้คืนใบอนุญาตได้ โดยจะต้องแจ้งความจำนงภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้ หรือภายใน 30 วัน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ชดเชยจะมีการกำหนดให้สามารถแจ้งถอนความประสงค์ได้ และก่อนจะได้รับสิทธิให้ 17 ช่องรายการที่ยังไม่ได้ชำระค่าใบอนุญาตงวดที่ 4 อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือ รวมจำนวน 3,215.2 ล้านบาทให้จ่ายภายใน 120 วัน หรือภายใน 8 ส.ค.62 กับสำนักงาน กสทช. หากไม่สามารถชำระได้ก็ให้จ่ายดอกเบี้ยมาได้ก่อน คิดอัตราดอกเบี้ย 7.5%ต่อปี โดยหักคืนให้ 3 ช่องคือช่อง 7 ช่องเวิร์คพอยท์ และ ช่องสปริงนิวส์ที่จ่ายงวด 5 มาก่อนหน้านี้ รวม 986.6 ล้านบาท หากไม่พอจ่ายจะเลือกให้ผู้ประกอบการที่มีผลดำเนินงานที่แย่ก่อน ส่วนที่เหลือ 2,228.6 ล้านบาท คืนให้แก่รัฐ

สำหรับเงินค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัล งวดที่ 5 และ 6 จำนวนรวม 13,622.4 ล้านบาทจะได้รับการยกเว้นทั้งหมด ส่วนค่าโครงข่าย (MUX) ที่ช่วงเวลาที่เหลือ 9 ปี 6 เดือน ของใบอนุญาต กสทช.จะจ่ายให้รวม 18,775.8 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับชดเชยจากเงินประมูลคลื่น 700 MHz รวมทั้งการจัดทำเรตติ้ง นายฐากร กล่าวว่า กสทช.จะให้สมาคมทีวีดิจิทัลเป็นคนจัดหาองค์กรกลางจัดทำเรตติ้ง ในงบประมาณ 431 ล้านบาท โดยส่วนนี้จะนำมาจากเงินประมูลค่าคลื่น 700 MHz ด้วย

นายฐากร กล่าวว่า ในวันที่ 19 เม.ย.นี้ กสทช.จะแต่งตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง โดยด้านโทรคมนาคม จะมีคณะทำงานเกี่ยวกับการจัดทำหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz , คณะทำงานเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz , คณะทำงานเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ 700 MHz (แต่งตั้งแล้ว) และ คณะทำงานเกี่ยวกับการคืนหลักประกันเดิมและจัดทำหลักประกันใหม่

ส่วนด้านโทรทัศน์ ได้แก่ คณะอนุกรรมการเพื่อเสนอความเห็นเกี่ยวกับการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขการชดเชยกรณีคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล และ กรณีได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 MHz , คณะทำงานเกี่ยวกับการคืนหลักประกันและตรวจสอบการชำระเงินตามคำสั่งหัวหน้า คสช.และ คณะทำงานเกี่ยวกับการสนับสนุนเงินเพื่อสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์(Rating) และการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ นอกจากนี้จะมีคณะทำงานเกี่ยวกับการสร้างความรับรู้และความเข้าใจต่อการดำเนินงานตามคำสั่ง คสช.

"คณะทำงานทั้งหมดจะแต่งตั้งในวันศุกร์นี้ (19 เม.ย.) จะมีเวลาทำงานให้เสร็จสิ้น มิ.ย. 62 หรือภายใน 2 เดือน ....คาดว่าจะมีการคืน 4-5 ช่อง" นายฐากร กล่าว

นายเขมทัต พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท. (MCOT) กล่าวว่า ค่อนข้างพอใจกับคำสั่ง คสช. แต่กังวลเรื่องจังหวะเวลาเพราะช่วงเวลานี้จะมีการประชุมกรรมการและประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ในขณะที่มีเวลาตัดสินใจยื่นใช้สิทธิเพียง 30 วัน รวมทั้งการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจะกระทบกับผู้ประกอบการโครงข่าย (MUX) ซึ่งบริษัทเป็นทั้งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และ ผู้ให้บริการโครงข่าย โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 23 เม.ย.นี้ และจะประชุมสามัญผู้ถือหุ้น 26 เม.ย.นี้

ในส่วน MCOT มี 2 ช่อง คือ ช่อง SD และช่องเด็ก แม้ว่าต้นทุนการดำเนินงานยังสูงอยู่ โดยมีต้นทุนของใบอนุญาตสัดส่วน 10-15% รวมทั้งต้นทุนค่าบุคลากร และคอนเท้นท์ โดยในช่องเด็กได้มีการปรับปรุงใหม่ และเจรจาพันธมิตรเข้ามาร่วมแล้ว โดยมีต้นทุนใบอนุญาต สัดส่วน 10% แต่ค่าใช้จ่ายคอนเทนท์และบุคลากรน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าบริษัทที่มีใบอนุญาตมากเกินไปมีโอกาสคืนใบอนุญาตสูง เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง และอุปกรณ์ก็แพง โดยประเมินส่วนตัวคาดว่าจะมีการคืนใบอนุญาต 7-8 ช่อง โดยเฉพาะช่องเด็ก (มี 2 ช่อง) และช่องข่าว (มีอยู่ 7 ช่อง) ทั้งนี้การคืนใบอนุญาตก็ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน

นายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น (NEWS) คาดว่า จะขอใช้สิทธิก่อน แต่ยังต้องพิจารณาว่าเมื่อคืนใบอนุญาตแล้วจะได้คืนเท่าไรที่จะคุ้มค่ากว่าการไม่คืนใบอนุญาต เช่นเดียวกับผู้บริหารช่อง 3 ระบุว่ายังต้องหารือกับคณะกรรมการบริษัทที่จะประชุมในวันที่ 19 เม.ย.นี้

ปัจจุบัน ทีวีดิจิทัลมีอยู่ 22 ช่อง เป็นช่อง HD 7 ช่อง ช่อง SD 6 ช่อง ช่องช่าว 7 ช่อง และช่องเด็ก 2 ช่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ