นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามความคืบหน้าการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งล่าสุดผู้นำสหภาพยุโรป (EU) 27 ประเทศ มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาให้อังกฤษออกไปอีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เพื่อให้อังกฤษมีเวลาในการเจรจาจัดทำความตกลงรูปแบบและเงื่อนไขความสัมพันธ์กับ EU ใหม่ หรือที่เรียกว่าความตกลงการถอนตัว (Withdrawal Agreement) นั้น จนถึงขณะนี้ยังคาดเดายากว่าจะลงเอยเช่นไร ซึ่งเป็นไปได้หลายรูปแบบ เช่น อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกอียูแบบไม่มีข้อตกลงฯ, อังกฤษเปลี่ยนใจขอยกเลิกการออกจากการเป็นสมาชิก EU (revoke Article 50), อังกฤษมีการจัดการลงประชามติครั้งใหม่หรือจัดการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ เป็นต้น
ขณะที่ต้องติดตามความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีเมย์กับนายคอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงาน (ฝ่ายค้าน) ที่คัดค้านการให้สัตยาบันต่อความตกลงการถอนตัวตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะสามารถหาข้อประนีประนอมได้หรือไม่ และเมื่อใด และข้อประนีประนอมดังกล่าวจำเป็นต้องแก้ไขความตกลงการถอนตัวฯ ที่ตกลงกันแล้วหรือไม่ และ EU จะสามารถยอมรับข้อเสนอแก้ไขความตกลงได้หรือไม่
นอกจากนี้ EU มีกำหนดเลือกตั้งรัฐสภายุโรประหว่างวันที่ 23-26 พฤษภาคม 2562 ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีเมย์ยังไม่สามารถโน้มน้าว ส.ส. และรัฐสภาฯ ของอังกฤษให้ความเห็นชอบความตกลงการถอนตัวได้ภายในวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 อังกฤษอาจต้องเข้าร่วมการเลือกตั้งของ EU และยังอยู่ใน EU แบบไม่มีความชัดเจนว่าจะอยู่ไปอีกนานเท่าใด
นางอรมน เสริมว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit ได้ส่งผลระยะสั้นต่อภาคการเงิน และค่าเงินปอนด์ของอังกฤษ รวมถึงชะลอการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และหากเกิดกรณี Brexit แบบไม่มีข้อตกลง (no deal) คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและเศรษฐกิจของอังกฤษ และ EU เนื่องจาก EU เป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 1 ของ มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 580 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 50% ของการค้าทั้งหมดของอังกฤษ และอังกฤษจะเสียสิทธิพิเศษทางการค้าและการลงทุนต่างๆ ที่เคยมีกับ EU หากมีกำแพงภาษีระหว่างกัน
อย่างไรก็ตาม การออกจากการเป็นสมาชิก EU แบบไม่มีข้อตกลงน่าจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากท่าทีของอังกฤษตามมติของรัฐสภาฯ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 และ EU เองคงไม่อยากให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ
ทั้งนี้ สำหรับการคาดการณ์ผลกระทบของ Brexit ต่อประเทศไทย ผลกระทบระยะสั้นที่เกิดจากค่าเงินปอนด์ของอังกฤษที่ผันผวน อาจทำให้ราคาสินค้าส่งออกของไทยมีราคาสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบ และความต้องการซื้อสินค้าไทยที่ลดลง สำหรับในระยะยาว คาดว่าไทยน่าจะไม่ได้รับผลกระทบ แม้อังกฤษจะเป็นคู่ค้ารายสำคัญอันดับที่ 20 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่สัดส่วนการค้ามีไม่มากนัก (1.40% ของการค้าทั้งหมดของไทย)
ในทางตรงข้าม ไทยน่าจะได้รับผลเชิงบวกจากการที่กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนของอังกฤษ ภายหลัง Brexit จะมีความยืดหยุ่นและผ่อนคลายกว่าของ EU เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ดังที่อังกฤษประกาศจะยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดภายหลัง Brexit ต่อสินค้าของไทย 4 รายการ ได้แก่ ข้าวโพดหวาน, ตาข่ายใยแก้ว, รถลากพาเล็ท และข้อต่อท่อเหล็กอบเหนียวสลักเกลียว และจะให้ความสำคัญกับพันธมิตรทางการค้าใหม่ ตามนโยบาย Global Britain ทำให้ไทยน่าจะมีโอกาสทางการค้าและการลงทุนกับอังกฤษเพิ่มขึ้น
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อรับมือกับ Brexit กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อยู่ระหว่างเจรจากับทั้ง EU และอังกฤษ เรื่องการแก้ไขตารางข้อผูกพันโควตาภาษีในกรอบองค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับโควตาสินค้าจำนวน 31 รายการ เช่น มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ปลากระป๋อง เป็นต้น ที่ไทยเคยได้รับโควตาจาก EU และจะต้องมีการจัดสรรแบ่งโควตาใหม่ภายหลัง Brexit โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นในการรักษาผลประโยชน์ของไทยให้ได้รับปริมาณโควตารวม (ใน EU และอังกฤษรวมกัน) ที่ไม่น้อยกว่าเดิม และสะท้อนปริมาณการค้าจริงระหว่างไทยกับอียู 27 ประเทศ และยูเคให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ได้เตรียมการศึกษาความเป็นไปได้ถึงการที่ EU และอังกฤษจะมีการจัดทำFTA ร่วมกันในอนาคต ภายหลัง Brexit