นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เผยการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 11,572.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.38% มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 76.25% ของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ทั้งหมด
"การใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่เพิ่มขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการส่งออกในช่วง 2 เดือนปี 2562 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) มูลค่า 10,776.53 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.52% คิดเป็นอัตราการใช้สิทธิ 77.80% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิภายใต้ FTA และมูลค่าการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) มูลค่า 796.26 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.60% คิดเป็นอัตราการใช้สิทธิ 60.00% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP"
ทั้งนี้ หากดูรายการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ FTA ทั้ง 12 ฉบับ (ยังไม่รวมความตกลงอาเซียน-ฮ่องกง ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ภายในครึ่งปีแรก) พบว่า ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) อาเซียน (มูลค่า 4,013.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) (2) จีน (มูลค่า 2,704.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) (3) ญี่ปุ่น (มูลค่า 1,407.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) (4) ออสเตรเลีย (มูลค่า 1,332.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ (5) อินเดีย (มูลค่า 696.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ พบว่าในทุกตลาดมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ เพิ่มขึ้น ยกเว้นตลาดออสเตรเลียและชิลีที่มีอัตราการขยายตัวลดลง ซึ่งพบว่ารายการสินค้าที่มีการขอใช้สิทธิฯ ในการส่งออกลดลง ได้แก่ รถยนต์สำหรับขนส่งน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน รถยนต์ความจุกระบอกสูบ 1,000-1,500 ลบ.ซม. และรถยนต์ความจุกระบอกสูบเกิน 2,500 ลบ.ซม. และเครื่องซักผ้าขนาดเกิน 10 ก.ก. โดยมีข้อสังเกตเบื้องต้นจากกลุ่มผู้ประกอบการยานยนต์ว่ามูลค่าการใช้สิทธิฯ ที่ลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการหันไปส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางเพิ่มมากขึ้น
สำหรับตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู ซึ่งมีอัตราการขยายตัว 32.02% รองลงมาคือ ญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 17.64% และจีน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 9.41% ส่วนกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี (104.79%) 2) ไทย-ญี่ปุ่น (99.64%) 3) อาเซียน-จีน (92.74%) 4) อาเซียน-เกาหลี (86.33%) และ 5) ไทย-ออสเตรเลีย (80.72%) โดยรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียม โพลิเมอร์ของเอทิลีน และกุ้งอื่นๆ ไม่แช่แข็ง
อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในช่วง 2 เดือนของปี 2562 พบว่าประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เวียดนาม (12.14%) (2) ลาว (9.27%) และ (3) กัมพูชา (9.14%) ซึ่งยังคงต้องจับตามองตลาดเวียดนามซึ่งเป็นตลาดที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงและเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในแง่การส่งออกและการลงทุน และยังมีความคืบหน้าในส่วนของการอำนวยความสะดวกสินค้าไทยใช้สิทธิพิเศษทางภาษีส่งออกไปตลาดบรูไนด้วย e-Form D ซึ่งล่าสุด กรมฯ ประสบความสำเร็จในการทดสอบระบบการเชื่อมโยง e-Form D กับบรูไนเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำแนวปฏิบัติและออกประกาศกรมฯ เพื่อรองรับการให้บริการออก e-Form D ไปยังบรูไน โดยหากกระบวนการภายในทั้งขาออกและขาเข้ามีความพร้อม บรูไนจะเป็นประเทศที่ 5 เพิ่มเติมจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามที่ร่วมเชื่อมโยงข้อมูล e-Form D
ทั้งนี้ บรูไนนับว่าเป็นตลาดประเทศอาเซียนที่น่าสนใจเนื่องจากประชากรมีรายได้และมีกำลังซื้อสูง โดยมีรายได้ต่อคนต่อปีกว่า 31,500 เหรียญสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ รวมถึงปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของบรูไนโดยใช้สิทธิฯ Form D ภายใต้กรอบความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนทุกรายการเป็น 0% แล้ว นับเป็นแต้มต่อสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่ไม่ต้องจ่ายอัตราภาษีปกติ (MFN) ที่ 5-20% หรือสูงกว่า โดยสินค้าส่งออกของไทยที่ใช้สิทธิฯ Form D มูลค่าสูง 5 อันดับแรกในปี 2561 มีทั้งสินค้าอุตสาหกรรม เกษตร และอาหารปรุงแต่ง ได้แก่ ยานยนต์ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,000 ซีซี ยานยนต์ความจุกระบอกสูบ 1,000-1,500 ซีซี เครื่องปรับอากาศ ซอสและของปรุงแต่งสำหรับซอส และกุ้งอื่นๆ
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในส่วนของการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP ทีมีอยู่ 5 ระบบ ประกอบด้วย สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช นอร์เวย์ และญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นได้ยกเลิกการให้สิทธิ GSP ตั้งแต่เมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยจากมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP 796.26 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐฯ ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือ ประมาณ 96%% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐฯ อยู่ที่ 768.38 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.36% มีอัตราการใช้สิทธิร้อยละ 70.24 ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 1,093.94 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง รถจักรยานยนต์ และเลนส์แว่นตา
สำหรับในปี 2562 กรมฯ ได้ประมาณการเป้าหมายอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ประมาณ 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% แต่ยังคงต้องจับตามองแนวโน้มการส่งออกของไทยที่คาดว่าอาจจะชะลอตัว เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากภาวะการค้าโลกและอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ยังคงมีความผันผวน และการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกมีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านมา รวมถึงปัจจัยเสี่ยงเรื่องค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้คำสั่งซื้อชะลอลง แต่กรมฯ ยังมั่นใจว่าอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ จะยังเติบโตได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มการขยายตัวไปในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และการพัฒนาระบบการให้บริการของกรมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง