พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชี้แจงรายละเอียดของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ว่า เป็นการปรับปรุงฉบับที่ 3 ซึ่งมีระยะเวลาห่างจากฉบับที่ 2 เป็นเวลา 2 ปี โดยมีสาเหตุจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญต้องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
โดย กสทช.พิจารณาแล้วเห็นว่า มาตราที่มีผลกระทบกับ กสทช.คือ มาตรา 60 ที่กำหนดให้รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน รัฐต้องจัดให้มีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะต้องกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำให้ผู้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในภาพรวมคือการให้อำนาจ กสทช.ในการดูแลสิทธิในการดำเนินการเกี่ยวกับดาวเทียมครอบคลุมการให้สิทธิในการดำเนินกิจการดาวเทียม มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลการรักษาสิทธิในวงโคจรดาวเทียม
ดังนั้น กสทช.จึงมีหน้าที่ในการจัดทำแผนแม่บทเพื่อการดำเนินงานเกี่ยวกับกิจการดาวเทียม เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญจึงต้องเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กับ กสทช.ในการเป็นผู้รักษาสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียม รวมถึงการออกหลักเกณฑ์วิธีอนุญาตในการใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และมีอำนาจในการออกหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตในการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ (Landing Right)
"เนื่องจากปัจจุบันกิจการดาวเทียมยังอยู่ในช่วงเวลาสัมปทานของเอกจน กสทช.จึงเขียนไว้ในแผนบริหารสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียม กำหนดให้ผู้ที่ได้รับสัมปทานอยู่ใช้ดาวเทียมต่อไปจนกว่าจะครบอายุสัมปทาน" พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว
รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในส่วนบมจ.ไทยคม (THCOM) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานดาวเทียมไทยคม 4, 5, 6 นั้น กสทช.จะมีบทเฉพาะกาลในประกาศ กสทช.ให้ผู้ที่รับสัมปทานยังคงมีสิทธิใช้วงโคจรดาวเทียมจนถึงวันสิ้นสุดสัญญาสัปทาน ซึ่งดาวเทียมทั้ง 3 ดวงจะครบอายุสัญญาสัมปทานพร้อมกันในปี 64 ส่วนดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ยังอยู่ในขั้นตอนอนุญาโตตุลาการ
กสทช.ได้ตั้งคณะทำงานจัดทำแผนและหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตและเงื่อนไขการอนุญาต สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และการใช่ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ โดยจะผลักดันการออกแผนแม่บทการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม , การประกาศหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตและเงื่อไนขการอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และหลักเกณฑ์วิธีอนุญาตและเงื่อนไขการอนุญาตในการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ โดยคาดว่าจะจัดทำได้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้และเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. จากนั้นจะเปิดประชาพิจารณ์ ซึ่งจะใช้ระยะเวลา 45 วัน คาดว่าจะสามารถลงประกาศ กสทช.ในราชกิจานุเบกษา และสามารถเปิดให้เอกชนเข้ามาขอรับใบอนุญาตได้ประมาณไตรมาส 3/62
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวว่า กสทช.ต้องการให้มีผู้ประกอบการธุรกิจดาวเทียมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาตลาดดาวเทียมด้วยซึ่งขณะนี้มีซัพพลายค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันการให้ต่างขาติเข้ามขออนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติอาจจะต้องจำกัดใบอนุญาต เพราะเกรงว่าจะเข้ามาดัมพ์ราคาในประเทศ และกำหนดให้ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในไทย มีสัญชาติไทย อีกทั้งจะกำหนดเรื่องต่างตอบแทนที่หากชาติใดเข้ามาขอใบอนุญาตการใช้ข่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติก็ขอให้ชาตินั้นก็เปิดตลาดให้ดาวเทียมไทยเข้าไปทำตลาดได้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้มีหนังสือส่งมายังกสทช.ว่า กระทรวงดีอีมีแผนนำแนวทางกิจการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) มาบริหารจัดการดิจการดาวเทียม หลังจากไทยคม 4, 5, 6 สิ้นสุดสัมปทาน ได้หรือไม่ คณะทำงานฯก็จะพิจารณาเรื่องนี้ด้วย
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติที่ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน โดยรัฐต้องกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะ (ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เท่านั้น) เดิม พ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดสัดส่วนขั้นตอนในการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ จึงแก้ไขมาตรา 49 วรรค 2 โดยกำหนดให้การใช้คลื่นความถี่จะต้องกำหนดให้มีการใช้งานคลื่นความถีเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของประชาชนไม่น้อยกว่า 25% ของการอนุญาตแต่ละครั้ง
พ.ร.บ.ใหม่ยังได้กำหนดให้มีการกำหนดเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยได้กำหนดโทษความผิดทางอาญากับผู้ที่โทรศัพท์แจ้งเหตุที่ไม่เป็นความจริงหรือไม่มีเหตุฉุกเฉิน และยังมีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อรองรับการหลอมรวมเทคโนโลยี ให้ กสทช.ออกประกาศให้ใช้คลื่นความถี่เปิดกว้างการใช้งานตามแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ โดย กสทช.สามารถออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แบบหลอมรวมได้ โดยจะทำได้ต่อเมื่อ กสทช.มีความพร้อม โดยต้องขอให้ออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้มีการใช้คลื่นความถี่ ทั้งนี้การออกใบอนุญาตเป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนแก่กันมิได้เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจในการถอดถอนกรรมการ กสทช.เปลี่ยนจากวุฒิสภาไปเป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจในการถอดถอนกรรมการ กสทช. จึงยกเลิกมาตรา 20 วงเล็บ 6 แล้วเขียนให้การถอดถอนจะต้องส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.หรือมีผู้ร้องไปยังอัยการสูงสุดแล้วส่งเรื่องต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
สำหรับผลกระทบต่อประชาชนจาก พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ จะทำให้การใช้งานคลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยแท้จริง เปิดกว้างให้มีทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากกิจการดาวเทียม ลดการผูกขาด, มีการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์ของประชาชนและสาธารณะที่มีสัดส่วนชัดเจน, การกำหนดหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินที่สามารถใช้แจ้งเหตุฉุกเฉินได้โดยไม่เสียค่าบริการ (ผู้ให้บริการจะไม่เรียกเก็บค่าบริการ) และการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อรองรับการหลอมรวมเทคโนโลยีได้