นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการ รถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า วันนี้(19 เม.ย.) คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท ได้หารือในประเด็นปลีกย่อยที่เกี่ยวข้องกับร่างสัญญาตามที่ฝ่ายกฎหมายนำเสนอครบทุกประเด็นแล้ว และมอบหมายให้แจ้งกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซี.พี.) และพันธมิตรรับทราบต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะนัดหารือกับกลุ่มซีพี ในวันที่ 23 เม.ย.อีกครั้ง หากกลุ่มซีพีไม่มีข้อต่อรองเพิ่มเติม และยอมรับในข้อตกลงทุกประเด็น ก็จะสรุปร่างสัญญาเสนออัยการได้ราววันที่ 26 เม.ย.เพื่อให้ตรวจร่างสัญญา และจะเสนอผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซีขนานกันไป ซึ่งคาดว่าบอร์ดอีอีซีจะประชุมช่วงปลายเดือนเม.ย. และเสนอครม.ต่อไป โดยเป้าหมายจะลงนามสัญญากับกลุ่มซีพีภายในเดือน พ.ค.62
"การเจรจาในประเด็นหลักจบหมดแล้ว ที่เหลือตอนนี้เป็นประเด็นด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัญญาทั้งหมด เช่น ค่าปรับ การส่งมอบพื้นที่ ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการคัดเลือกฯและฝ่ายกฎหมาย ได้หารือกันจบแล้ว สรุปว่าให้แจ้งฝ่ายกฎหมายทางซีพี ดังนั้น อยู่ที่ซีพีจะตกลงตามที่สรุปหรือไม่ หากตกลงวันอังคารที่ 23 เม.ย.ถือว่าจบ"นายวรวุฒิ กล่าว
นายวรวุฒิ กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ยืนยันไม่รับข้อเสนอของกลุ่มซีพีที่อยู่นอกกรอบทีโออาร์ ซึ่งที่ผ่านมาการเจรจาต่อรองบนพื้นฐานตามเงื่อนไขรายละเอียดที่กำหนดในทีโออาร์ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯจะรายงานต่อบอร์ดอีอีซีรับทราบทั้งหมด ส่วนกรณีมีข่าวว่ามีการรับเงื่อนไขนอกกรอบ 12 ข้อนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะทางเราปฏิเสธไปหมดแล้ว
อนึ่ง กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย) เป็นแกนนำหลักถุอหุ้น 70%, บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD)ถือ 5% , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน)(CRCC) ถือหุ้น 10%, ส่วน บมจ. ช.การช่าง (CK) และ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)รวมกันถือ 15%