นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า ในระยะหลังอัตราเงินเฟ้อไม่ได้เป็นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินมากนัก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อมีสาเหตุมาจาก supply side และเป็นทิศทางเช่นเดียวกันในหลายประเทศ การที่อัตราเงินเฟ้อยู่ในระดับต่ำใกล้ขอบล่าง ต้องพิจารณาว่ามีสาเหตุมาจากจุดใด ซึ่งหากเป็นเพราะสาเหตุจาก supply side ก็ไม่น่ากังวลมากนัก ตราบใดที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศยังสามารถขับเคลื่อนไปได้ การบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนยังเป็นไปตามปกติ
"ปัจจัยด้าน supply side เข้ามามีบทบาทมาก จึงทำให้เงินเฟ้อไม่ได้เป็นแรงกดดัน ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกันหลายประเทศ ผู้ประกอบการเจอแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ความสามารถในการตั้งราคาสินค้าจึงด้อยลงไปมาก เนื่องจากอีคอมเมิร์ซทำให้มีการเปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจซื้อ ดังนั้น เมื่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำใกล้ขอบล่าง เราต้องดูว่าหลุดขอบล่างจากปัจจัยใด หากเป็นการหลุดขอบล่างจากปัจจัยด้าน supply side ก็ไม่น่ากังวลมากนัก เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังสามารถขยายตัวได้ดี ประชาชนยังมีการจับจ่ายใช้สอยตามปกติ ไม่ได้เป็นภาวะที่ราคาสินค้าลดลงจนเกิดเงินฝืดแต่อย่างใด ดังนั้น จึงทำให้เราสนใจกับเป้าหมายเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจว่าเติบโตใกล้เคียงกับศักยภาพหรือไม่มากกว่า" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
พร้อมระบุว่า ดังนั้นในระยะหลังมานี้จะเห็นได้ว่าการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยจึงมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเปลี่ยนจาก point target มาเป็น range target อีกทั้งระยะเวลาในการเข้าสู่กรอบเป้าหมายก็นานขึ้น เนื่องจากตระหนักดีว่าเงินเฟ้อในวันนี้ไม่ได้เป็นแรงกดดันที่ต้องให้น้ำหนักหรือกังวลมากเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบที่แล้ว ที่ประชุมจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 1.75%
ทั้งนี้ ในปี 62 ธปท.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 1% ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ตั้งไว้ที่ 1-4% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 1.1% ในปี 63
ผู้ว่าการ ธปท.ยังกล่าวด้วยว่า การดำเนินนโยบายการเงินของไทยจำเป็นต้องตอบโจทย์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในขณะนั้นได้อย่างแท้จริง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามพัฒนาการของข้อมูลเป็นสำคัญ (Data dependent) เป็นสำคัญ รวมทั้งติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป
"นโยบายการเงินของเราต้องตอบโจทย์ประเทศของเรา เราไม่ได้ให้ความสำคัญว่าเราจะช้า จะเร็วกว่าเขาหรือเปล่า แต่เราต้องดูว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศหลักๆ มันมีผลต่อทิศทางดอกเบี้ยในตลาดโลก มีผลต่อเงินไหลเข้าออก แต่หลักสำคัญของการตัดสินนโยบายการเงินคือ ต้องการให้ตอบโจทย์ภาวะเศรษฐกิจและการเงินของเราเป็นหลัก บางทีเราอาจจะช้าจะเร็ว จะมากจะน้อยกว่าคนอื่น นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการตัดสินนโยบาย และไม่จำเป็นว่าเราจะต้องทำนโยบายการเงินของเราให้ซิงโครไนซ์กับประเทศอื่น"ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
ผู้ว่าการ ธปท.ยังกล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยมีหลากหลายมิติที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ กล่าวคือ การดูแลหนี้ครัวเรือนจะต้องดูทั้งระดับจุลภาค และระดับมหภาค โดยในระดับจุลภาค คือ การดูแลเป็นรายผลิตภัณฑ์ ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น ซึ่งหากพบว่าสถาบันการเงินมีพฤติกรรมการปล่อยสินเชื่อที่ไม่เหมาะสม มีการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ไม่มีการประเมินความสามารถของผู้กู้ และมีการแข่งขันกันมากเกินไป ก็จะมีมาตรการที่ใช้กำกับดูแลเป็นรายผลิตภัณฑ์
"ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมีการออกเกณฑ์ดูแลเป็นรายผลิตภัณฑ์ ทำให้คนย้ายจากช่องทางหนึ่งไปอีกช่องทางหนึ่ง หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แทน ซึ่งสถาบันการเงิน ก็มีการแข่งขันในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น" นายวิรไท กล่าว
พร้อมระบุว่า สาเหตุนี้จึงทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการพิจารณาหลักเกณฑ์ในภาพใหญ่ เช่น ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยไม่ว่าลูกหนี้จะไปขอกู้ในผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตาม ต้องกลับมาดูว่าลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าในประเทศไทยที่ผ่านมา ยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลายมากในผู้ให้บริการทางการเงินประเภทต่างๆ เช่น สินเชื่อรถยนต์ ดูแค่หลักประกันเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ได้ดูความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ จึงทำให้มีการแข่งขันหรือส่งเสริมให้ประชาชนเข้าไปเป็นหนี้กันมากเกินควร
"ในการกำกับดูแล เราจะกำกับดูแลให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มากขึ้น ไม่ว่าลูกหนี้จะกู้ผลิตภัณฑ์ใดก็ตาม ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล เครดิตการ์ด เพราะในที่สุดก็มาจากรายได้ของลูกหนี้กระเป่าเดียวกันที่ต้องไปชำระหนี้ประเภทต่างๆ เราจะดูเรื่องความสามารถในการชำระหนี้เป็นหัวใจสำคัญ ที่ผ่านมา เราก็ให้ความสำคัญเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ แต่อาจจะมีช่องโหว่อยู่บ้างในบางผลิตภัณฑ์ หรือบางผู้ให้บริการ เวลาที่มองผลิตภัณฑ์ต่อผลิตภัณฑ์อาจไม่ได้มองเป็นภาพใหญ่ ในเรื่องภาระหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้...ความสามารถในการชำระหนี้ คือ เอาลูกหนี้เป็นตัวตั้งแล้วดูว่าเขามีหนี้ทั้งหมดเท่าไรในการที่จะกู้เพิ่มไม่ว่าจะกู้ผลิตภัณฑ์ใดก็ตาม นี่คือหลักที่หลายประเทศนำมาใช้ในช่วงหลัง" ผู้ว่าฯธปท.ระบุ
ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.กล่าวว่า เรื่องหนี้ครัวเรือนถือเป็นปัญหาสำคัญของไทย ซึ่งเมื่อพิจารณาโครงสร้างหนี้ครัวเรือนของไทยเทียบกับต่างประเทศแล้วจะพบว่าของไทยเกิดจากสินเชื่อเพื่อการบริโภค และสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งระยะเวลาการชำระหนี้ที่สั้นจึงทำให้เป็นภาระหนี้ค่อนข้างสูง ในขณะที่หนี้ครัวเรือนของต่างประเทศนั้นจะมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ซึ่งการออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลในเรื่องนี้ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล, สินเชื่อบัตรเครดิต, สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (เกณฑ์ LTV) และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ
"การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาระยะยาว จะต้องมีการดำเนินการอย่างอื่นในระยะต่อไป ตอนนี้เรากำลังศึกษาอยู่ เพราะหลายประเทศมีมาตรการอื่นๆ มาดูแลเพิ่มเติม" นายเมธี ระบุ