ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย มี.ค.62 อยู่ที่ 48.4 ลดลงเล็กน้อย กังวลเสถียรภาพการเมือง-กนง.หั่น GDP ปี 62

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 22, 2019 15:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC CONFIDENCE INDEX) เดือนมี.ค.62 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเป็นจากประธานหอการค้า และกรรมการหอการค้าของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ รวม 263 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 25 มี.ค.-2 เม.ย.62 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนมี.ค.62 อยู่ที่ระดับ 48.4 ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก.พ.62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 48.5

โดยปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย ได้แก่ ความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล และสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตที่มีความไม่แน่นอนและขาดเสถียรภาพ, SET Index ในเดือนมี.ค.62 ปรับตัวลดลง 14.83 จุด เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก.พ.62, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ เหลือ 3.8% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 4.0%, สถานการณ์มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล และบางจังหวัดของเขตภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ กิจกรรมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 มีผลทำให้บรรยากาศการหาเสียงคึกคัก, ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 2.25-2.50%, สถานการณ์การส่งออกของไทยในเดือนก.พ.62 เพิ่มขึ้น 5.91% โดยมีมูลค่า 21,553 ล้านดอลลาร์, สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเริ่มคลี่คลาย, นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากยกเลิกค่าธรรมเนียม VISA on Arrival, ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย จากระดับ 31.308 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้น ก.พ.62 มาเป็น 31.729 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นมี.ค.62 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามา

โดยผู้ประกอบการภาคธุรกิจได้เสนอแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังนี้ 1.ภาครัฐควรหามาตรการในเชิงรูปธรรม เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถปรับตัว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับยุค Disruptive Technology 2.ภาครัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศให้สามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้ 3.ควรกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ในทุกพื้นที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ 4.สร้างเสถียรภาพและความชัดเจนทางการเมืองของประเทศไทย

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเมื่อแยกเป็นรายภาค มีรายละเอียดดังนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 50.1 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 50.2 ในเดือนก.พ.62 โดยปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง, จำนวนนนักท่องเที่ยวลดลง, ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ กิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศ, การเร่งก่อสร้างเส้นทางคมนาคมเพื่อการเดินทางให้มีความต่อเนื่อง, มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยสิ่งที่ภาคเอกชนเสนอแนะให้เร่งแก้ไข คือ 1.การพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ 2.การจัดหาแหล่งทุนที่เหมาะสมตามความต้องการของผู้ประกอบการ 3.แก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 48.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 48.2 ในเดือนก.พ.62 โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ เช่น กิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศ, จำนวนนักท่องเที่ยวและภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวต่อเนื่อง, ปริมาณการใช้ไฟฟ้าและจำนวนทุนจดทะเบียนโรงงานอุตสาหกรรมขยายตัวขึ้น ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ เช่น ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง และปัญหาค่าครองชีพของประชาชน โดยสิ่งที่ภาคเอกชนเสนอแนะให้เร่งแก้ไข คือ 1.แหล่งน้ำสำหรับใช้ในภาคการเกษตร 2.กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนให้เพิ่มสูงขึ้น 3.อัตราการว่างงานของประชาชนในพื้นที่

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 52.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 52.6 ในเดือนก.พ.62 โดยปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ กิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศ, จำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีโครงการก่อสร้างในเขตนิคมอุตสาหกรรม, การขยายตัวของธุรกิจภาคบริการในพื้นที่จากการท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง, ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะเข้ามาร่วมธุรกิจในเขตภาคตะวันออก, ปัญหาขาดแรงงานที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ และการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยข้อเสนอแนะของภาคเอกชน คือ ต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวชายแดน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 47.9 ลดลงจากระดับ 48.2 ในเดือนก.พ.62 โดยปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง, สถานการณ์ภัยแล้ง, สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน และพืชผลเกษตรลดน้อยลง ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ กิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศ, การขยายตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐาน เช่น สนามบินและเส้นทางการคมนาคมขนส่งที่สะดวกขึ้น, นโยบายส่งเสริมการเกษตรของภาครัฐที่เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ทั้งนี้ภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะ ประกอบด้วย 1.แก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชน 2.แก้ปัญหาการว่างงานของคนในพื้นที่ และ 3.จัดสรรแหล่งน้ำเพื่อใช้ในภาคการเกษตร

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 48.8 ลดลงจากระดับ 49.0 ในเดือนก.พ.62 โดยมีปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง, สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน และสถานการณ์ภัยแล้ง ส่วนปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ กิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศ, การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปลายปีต่อเนื่องต้นปี ก่อนการเลือกตั้งผ่านบัตรสวัสดิการ และมาตรการด้านภาษีที่ให้เกิดการท่องเที่ยวเมืองรอง อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอต่อภาครัฐ ได้แก่ 1.กระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่ 2.หามาตรการป้องกันสถานการณ์ภัยแล้ง และ 3.กระตุ้นราคาสินค้าเกษตร

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 45.6 ลดลงจากระดับ 45.9 ในเดือนก.พ.62 โดยมีปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง, ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง เนื่องจากสภาวะภัยแล้งติดต่อกัน, รายได้ของประชาชนลดลง ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอย และปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ ส่วนปัจจัยบวกที่สำคัญ เช่น กิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศ, ความน่าเชื่อถือต่อนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติในการลงทุนและดำเนินธุรกิจ, ความเชื่อมั่นของประชาชนที่คาดหวังว่าหลังจากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ ธุรกิจ และการค้าขายให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้เสนอสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐแก้ไข คือ 1. แก้ปัญหาค่าครองชีพประชาชน 2.กระตุ้นราคาสินค้าเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ