ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยให้ยกคำร้องของกระทรวงคมนาคมและกรรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
คำพิพากษาดังกล่าวมีผลให้ รฟท.ต้องจ่ายเงินคืนแก่ โฮปเวลล์ รวมประมาณ 11,888 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ประกอบด้วย เงินที่โฮปเวลล์ได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท.ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ มูลค่า 500 ล้านบาท
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า โฮปเวลล์ ยื่นคำเสนอข้อพิพาทภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว เนื่องจากต้องนับอายุความตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.44 อันเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ
ขณะที่ประเด็นเนื้อหาคดีนั้น ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าการที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่ากระทรวงคมนาคมและ รฟท.บอกเลิกสัญญาและห้ามโฮปเวลล์เข้าไปดำเนินการก่อสร้าง ริบเงินค่าตอบแทนสัญญาและริบหลักประกันสัญญาประกัน แสดงว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้น
และก่อนเสนอข้อพิพาท โฮปเวลล์ได้ขอให้กระทรวงคมนาคมและรฟท.ระงับข้อพิพาทโดยเจรจาประนีประนอมยอมความ แต่ทั้งสองเพิกเฉย โฮปเวลล์จึงมีสิทธินำข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทานเสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ ซึ่งเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี และคำชี้ขาดในประเด็นที่ว่าโฮปเวลล์เสนอให้ระงับข้อพิพาทภายในอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ไม่ปรากฏเหตุบกพร่องถึงขนาดจะทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี
ส่วนคำชี้ขาดที่ว่าการที่กระทรวงคมนาคมและรฟท.มีหนังสือบอกเลิกสัญญาต่อโฮปเวลล์ทันทีโดยไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในสัญญาคือต้องให้ดำเนินการแก้ไขก่อน เป็นการบอกเลิกสัญญาโดยยังไม่มีสิทธิ จึงไม่มีผลให้สัญญาเลิกกัน ต่อมาเมื่อกระทรวงคมนาคมและรฟท.มีหนังสือยืนยันหลายครั้งและโฮปเวลล์ขนย้ายออกและไม่ได้เข้าไปดำเนินการใดๆ พฤติการณ์ของกระทรวงคมนาคมและรฟท.มีเจตนาจะเลิกสัญญากับโฮปเวลล์อันถือได้ว่าเป็นคำเสนอขอเลิกสัญญา และการที่โฮปเวลล์ยืนยันปฏิบัติตามจนถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับคำเสนอของกระทรวงคมนาคมและรฟท.สัญญาสัมปทานย่อมเลิกกันโดยปริยาย คู่สัญญาจำต้องให้แต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยให้กระทรวงคมนาคมและรฟท.คืนเงินค่าตอบแทนที่โฮปเวลล์ชำระให้แก่กระทรวงคมนาคมและรฟท.จำนวน 2,850 ล้านบาท คืนหนังสือค้ำประกัน คืนค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันจำนวน 38,749,800 บาท เงินในการก่อสร้างโครงการจำนวน 9,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คำชี้ขาดที่เห็นว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันและให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะตัวที่เป็นอยู่เดิม ไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
และคำชี้ขาดที่ว่าผู้คัดค้านไม่ได้เป็นฝ่ายสัญญานั้น เมื่อพิจารณาข้อโต้แย้งของกระทรวงคมนาคมและรฟท.ในประเด็นต่างๆ ล้วนแต่มีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการพิจารณาข้อเท็จจริงและการปรับใช้กฎหมายและข้อสัญญาของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยการปฏิบัติตามสัญญารวมทั้งความรับผิดต่อกันซึ่งเป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญาไม่ได้มีลักษณะเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงไม่ปรากฏเหตุที่กฎหมายให้อำนาจศาลที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดได้