(เพิ่มเติม) กฟผ.เผยเอกชน 12 รายเสนอราคาแข่งเป็นผู้นำเข้า LNG คาดเซ็นสัญญาคู่ค้าภายในมิ.ย.ส่งมอบล็อตแรกก.ย.62

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 22, 2019 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากมติคณะกรรมการรนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 60 เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ โดยมอบหมายให้กฟผ.นำร่องเป็นผู้จัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จำนวนไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ภายในปี 62 นั้น

ปรากฎว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอการแข่งขันด้านราคาเข้ามาทั้งหมด 12 ราย จากบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นจำนวนทั้งสิ้น 34 ราย โดยคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาซื้อขาย LNG กับบริษัทคู่ค้าได้ภายในเดือน มิ.ย.62 และจะเริ่มส่งมอบ LNG ล็อตแรกได้ในเดือน ก.ย.62

สำหรับผู้ที่ยื่นเสนอราคาทั้ง 12 ราย ได้แก่ 1.Chevron U.S.A.Inc 2.Total Gas & Power Asia Private Limited 3.Marubeni Corporation 4.Emirates National Oil Company (Singapore) 5.Qatargas 6. JERA Co Inc 7.Pavilion Gas Ple. Ltd. 8. PETRONAS LNG Limited 9.บมจ.ปตท. (PTT) 10.Shell Eastern Trading (Pte) Ltd. 11.BP Singapore Pte. Limited และ 12.Vitol Asia Ple. Ltd โดยมีเพียง PTT เป็นผู้ประกอบในไทยเพียงรายเดียวที่ยื่นเสนอราคาเข้ามา

ทั้งนี้ กฟผ.กำหนดให้ผู้เสนอราคานำเข้า LNG ยื่นข้อเสนอตั้งแต่ระดับ 8 แสนตัน-1.5 ล้านตัน โดยจะต้องจัดหาที่ราคาไม่สูงกว่าราคานำเข้า LNG ต่ำสุดตามสัญญาจัดหาระยะยาวของประเทศที่ปัจจุบันอยู่ที่ราว 8-9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู โดยจะพิจารณาจากการให้ส่วนลดจากสูตรราคาของผู้แข่งขัน คาดว่าน่าจะรู้ตัวผู้ชนะประมูลได้ภายในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อตรวจสอบ และยื่นเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกฟผ. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กพช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.)ต่อไป

นายวิบูลย์ กล่าวว่า กฟผ.จะรับซื้อ LNG ตามสัญญา 8 ปี โดยทั้งปี 62 คาดว่าจะนำเข้าได้เพียง 2.8 แสนตัน และตั้งแต่ปีที่ 2 ถึงปีที่ 8 จะนำเข้าไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าวังน้อย บล็อกที่ 4 เป็นโรงไฟฟ้าหลัก ขนาด 750 เมกะวัตต์ (MW) ที่มีความต้องการใช้ LNG ราว 8.3 แสนตันต่อปี ขณะที่ยังมีโรงไฟฟ้าบางปะกง และพระนครใต้ ที่จะรองรับการใช้ LNG หากมีปริมาณจัดหาได้สูงสุดที่ 1.5 ล้านตันต่อปีด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกฟผ.ยังมีสัญญาซื้อก๊าซธรรมชาติจาก ปตท.อยู่ จากเดิมที่เป็นสัญญาระยะยาวแต่ได้หมดสัญญาเมื่อปี 58 หลังจากนั้นได้ทำสัญญาซื้อขายปีต่อปีระหว่างการรอดูแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ใหม่ ทำให้ในปีนี้มีสัญญาซื้อก๊าซฯจากปตท.จำนวน 380 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันสำหรับการใช้ในโรงไฟฟ้าก๊าซฯของกฟผ. และยังอยู่ระหว่างการพิจารณากลับไปทำสัญญาระยะยาว 20-25 ปี ซื้อก๊าซฯจากปตท.ตั้งแต่ปี 63 เบื้องต้นคาดว่าปริมาณการซื้อจะไม่ต่ำกว่าระดับปัจจุบัน แม้กฟผ.จะมีการนำเข้า LNG เข้ามาก็ตาม เนื่องจากกฟผ.ก็ยังจะมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ ๆเข้ามาเพิ่มเติมด้วย

ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายเปิดตลาดเสรีธุรกิจก๊าซฯอยู่แล้ว โดยมีผู้ที่ได้รับอนุญาตนำเข้า LNG เพียง 2 ราย คือปตท.และกฟผ. ส่วนการนำเข้าของรายใหม่คาดว่าจะเห็นใน 1-2 ปีข้างหน้า เนื่องจากปัจจุบันคลัง LNG มีเพียง 1 แห่ง ที่มาบตาพุดของปตท.ขนาด 11.5 ล้านตันต่อปี และปตท.อยู่ระหว่างก่อสร้างคลังแห่งที่ 2 ที่หนองแฟบ ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี ขณะที่ในอนาคตจะมีการก่อสร้างคลังในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 และคลังลอยน้ำ (FSRU) ของกฟผ. ซึ่งเชื่อว่าทั้งหมดนี้จะรองรับการนำเข้า LNG ได้ราว 25-30 ล้านตันตามแผนแม่บทก๊าซฯเดิมที่คาดว่าการใช้ LNG ของไทยระยะยาว 15-20 ปี จะอยู่ที่ 25 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันที่ปตท.นำเข้า LNG ตามสัญญาระยะยาว 5.2 ล้านตันต่อปีเท่านั้น และมีการนำเข้าจากตลาดจรอีกราว 2 แสนตันต่อปี ขณะที่แผนแม่บทก๊าซฯฉบับใหม่คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 3-6 เดือนข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ