ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก:ดอลล์แข็งเทียบยูโร,ปอนด์ ขณะนลท.เริ่มเมินเฟดลดดบ.

ข่าวต่างประเทศ Friday February 1, 2008 06:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (31 ม.ค.) ค่าเงินดอลลาร์ดีดตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและเงินปอนด์ เนื่องจากนักลงทุนเริ่มไม่ให้น้ำหนักกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนเพราะได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐและความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของบริษัทประกันหุ้นกู้
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินยูโรอ่อนตัวลงแตะระดับ 1.4877 ดอลลาร์ต่อยูโร จากระดับ 1.4898 ดอลลาร์ต่อยูโร ขณะที่ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลงแตะระดับ 1.9900 ดอลลาร์ต่อปอนด์ จากระดับ 1.9942 ดอลลาร์ต่อปอนด์
ดอลลาร์อ่อนตัวลงแตะระดับ 106.43 เยนต่อดอลลาร์ จากระดับ 106.95 เยนต่อดอลลาร์ และอ่อนตัวลงแตะระดับ 1.0828 ฟรังซ์ต่อดอลลาร์ จากระดับ 1.0857 ฟรังซ์ต่อดอลลาร์
นายเจมส์ ฮิวจ์ นักวิเคราะห์จากซีเอ็มซี มาร์เก็ต กล่าวว่า "การที่เฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยแทบจะไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงุน เนื่องจากมีการคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้แล้ว"
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นลงอีก 0.50% สู่ระดับ 3.0% และลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลงอีก 0.50% สู่ระดับ 3.5% เพื่อป้องกันเศรษฐกิจไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย สวนทางกับธนาคารกลางยุโรปที่ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4% และธนาคารกลางอังกฤษที่ตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.5% ทั้งนี้ ธนาคารกลางทั้ง 2 แห่งจะประชุมในสัปดาห์หน้าเพื่อตัดสินทิศทางอัตราดอกเบี้ย
ด้านนางจันยา ตาเนส นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน กล่าวว่า แม้นักลงทุนซึมซับกับข่าวการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดไปบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของบริษัทประกันหุ้นกู้ แม้ผู้บริหารของบริษัทเอ็มบีไอเอ อิงค์ ได้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่า เขามีความเชื่อมั่นว่าบริษัทจะสามารถรั้งอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AAA ไว้ได้ และมั่นใจว่าเอ็มบีไอเอจะสามารถระดมทุนใหม่ๆได้ด้วย
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของบริษัทประกันหุ้นกู้เกิดขึ้นหลังจากนายชาร์ลส แกสปาริโน ผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี แสดงความเห็นเมื่อวันก่อนว่า บริษัทประกันหุ้นกู้รายใหญ่ที่สุด 2 แห่งของสหรัฐ อาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้ภาคการเงินขาดทุนหนักยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวสหรัฐที่ขอรับสวัสดิการในระหว่างว่างงานพุ่งขึ้นเกินคาด 69,000 ราย แตะระดับ 375,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 26 ม.ค. ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปี 2548

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ