นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (disruptive technology) รวมถึงให้คำนึงถึงอัตราค่าไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak)ในแต่ละช่วงเวลา และ อัตราค่าไฟฟ้าขายส่งตามช่วงเวลาของการใช้(Time of Use : TOU Rate) ตลอดจนคำนึงถึงการของโครงข่ายซื้อขายไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น ไมโครกริด สมาร์ทกริด ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การเปิดตลาดเสรีซื้อขายไฟฟ้าเต็มรูปแบบในอนาคต
ทั้งนี้ ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้ามีรูปแบบใหม่ ๆเข้ามาเพิ่มเติม เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง เพราะมีต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำ ส่งผลให้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด เกิดการเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะเกิดขึ้นในช่วงกลางวัน ประมาณ 14.00-15.00 น. แต่ปัจจุบันเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน ประมาณ 20.00 น. ซึ่งหากไม่กำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้เหมาะสมในอนาคตถ้ามีการติดตั้งโซลาร์มากขึ้น ก็จะกระทบต่อระบบส่ง และอาจทำให้อัตราค่าไฟฟ้าช่วงกลางคืนแพงขึ้น
นายศิริ กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศตามสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในแต่ละภูมิภาค มีรวมกันประมาณ 32,000-34,000 เมกะวัตต์ (MW) และยังมีสำรองไฟฟ้าอีกจำนวนมากเพียงพอที่จะรับมือกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศไปอีก 3-4 ปีข้างหน้า โดยไม่จำเป็นต้องเร่งรัดสร้างโรงไฟฟ้าใหม่แต่อย่างใด
แม้ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในระบบของ 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) รวมกันจะอยู่ที่ 30,300 เมกกะวัตต์
ด้านนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกกพ. กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรรมฯ ซึ่งมีตัวแทนจาก กกพ.และ 3 การไฟฟ้า เข้าร่วมเป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.นี้ จากนั้นจะต้องนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งน่าจะเริ่มประกาศใช้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ได้ช่วงต้นปี 2563
สำหรับอัตราค่าไฟฟ้าตามโครงสร้างใหม่นั้น คาดว่าจะไม่แตกต่างไปจากปัจจุบันมากนัก เพราะแนวโน้มต้นทุนค่าเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า น่าจะยังใกล้เคียงกับปัจจุบัน ประกอบกับในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี2561-2580 (PDP 2018) กำหนดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลาดแผน 20 ปี อยู่ที่ 3.58 บาท/หน่วย