ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดราคายาง Q2/62 อาจกระเตื้องขึ้นจากมาตรการคุมเข้มปริมาณส่งออกยาง 2.4 แสนตัน แต่ภาพรวมทั้งปียังถูกกดดัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 23, 2019 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพาราร่วมกันใน 3 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย) รวมทั้งสิ้น 2.4 แสนตัน ระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เมษายน 2562 ว่า อาจมีผลช่วยผลักดันราคายางได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็น่าจะเห็นผลได้เพียงในระยะสั้น โดยอาจช่วยดันราคายางในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 ให้กระเตื้องขึ้นไปอยู่ที่ราว 43.0 บาทต่อกิโลกรัม จาก 41.9 บาทต่อกิโลกรัมในไตรมาส 1 ปี 2562

ทั้งนี้ มาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพารา (AETS) ที่ได้ดำเนินการมาแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง (ปี 2544 2552 2556 2559 และ 2561) ส่วนใหญ่จะทำในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งนับว่าเป็นมาตรการระยะสั้นที่เข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางในช่วงที่ราคาตกต่ำ และสำหรับมาตรการครั้งล่าสุดได้เริ่มดำเนินการในช่วงจังหวะที่ราคายางได้เริ่มส่งสัญญาณไม่ดีนัก ตั้งแต่ในช่วงไตรมาสแรกของปีที่ราคาหดตัว 2.5% (YoY) แม้ว่าราคายางจะเพิ่มขึ้น 10.8% (QoQ) จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้มาตรการดังกล่าวที่ 3 ประเทศตกลงดำเนินการในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ น่าจะช่วยพยุงราคายางได้ในระดับหนึ่ง ในช่วงจังหวะก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐบาลจะดำเนินการมาตรการดังกล่าวได้ในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาราคายางพาราที่มีแนวโน้มตกต่ำ แต่มาตรการนี้ก็เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ไม่ใช่มาตรการถาวร จึงทำให้น่าจะเห็นผลของการผลักดันราคาได้เพียงระยะสั้น เพราะในระยะยาวจะมีปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานที่มีผลกระทบโดยตรงกดดันต่อราคายาง โดยคาดว่า มาตรการดังกล่าว อาจช่วยผลักดันราคายางพาราในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2562 ให้กระเตื้องขึ้นไปอยู่ที่ราว 43.0 บาทต่อกิโลกรัม จาก 41.9 บาทต่อกิโลกรัมในไตรมาส 1 ของปี 2562 อย่างไรก็ตาม มาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยางเช่นนี้ อาจช่วยผลักดันราคายางพาราได้ไม่มากนัก เนื่องจากในปัจจุบันประเทศผู้ผลิตยางพาราไม่ได้มีเพียงไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียเท่านั้น แต่ยังมีประเทศผู้ผลิตยางพาราหน้าใหม่ในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่มีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากกลุ่ม CLMV มีการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น หลังจากพื้นที่ปลูกยางที่นักลงทุนจีนเข้าไปลงทุนใน CLMV เมื่อหลายปีก่อนเริ่มให้ผลผลิต จึงทำให้ปริมาณการส่งออกยางพาราในตลาดโลกไม่ได้ลดลงมากนัก และความต้องการผลักดันราคายางในตลาดโลกอาจไม่เป็นผลเท่าที่ควร

สำหรับราคายางในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า น่าจะให้ภาพที่ทยอยปรับตัวลดลงในกรอบ 37.5-40.9 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลง 0.5-0.7% (YoY) ตามปัจจัยฉุดสำคัญที่ยังมีอยู่ต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปีอย่างความต้องการจากจีนที่ชะลอลง อุปทานยางของโลกที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม ทำให้ราคายางทั้งปี 2562 จะยังให้ภาพที่ทรงตัวในระดับต่ำ โดยอาจอยู่ที่ราว 40.8-41.2 บาทต่อกิโลกรัม หรือหดตัว 0.8-1.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความพยายามในการสร้างเสถียรภาพของราคายางผ่านมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยางของภาครัฐควรดำเนินการไปพร้อมกับนโยบายรัฐที่ส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ เพื่อดูดซับปริมาณยางพาราที่อาจล้นตลาดในประเทศ เช่น โครงการยางปูสนามฟุตซอล โครงการถนนยางพาราแอสฟัลต์คอนกรีตและโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร เป็นต้น เพื่อให้เกิดการใช้ยางในประเทศมากขึ้นจากปัจจุบันที่มีการใช้ยางในประเทศเพียง 14% ของปริมาณการผลิตยางทั้งประเทศ

ขณะที่ในฝั่งของผู้ส่งออก ในช่วงระหว่างการจำกัดการส่งออกใน 4 เดือนนี้ ก็สามารถบริหารจัดการการส่งออกยางไปในช่วงที่เหลือของปีในช่วงจังหวะที่ยางอาจมีราคาขยับขึ้นได้บ้างในบางช่วง ขณะเดียวกันภาครัฐก็มีโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบแก่ผู้ประกอบการยาง เช่น โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 3% ต่อปี อันจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการในช่วงที่ต้องลดปริมาณการส่งออกยาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ