ผู้บริหาร KBANK มองแนวโน้มดอกเบี้ยปีนี้เป็นขาลงทั้งเงินฝากและเงินกู้ หลังคาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ลดดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)แน่นอน แต่การลดดอกเบี้ยช่วงนี้ไม่น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก ควรใช้นโยบายการคลังและมาตรการทางภาษีแทน ส่วนมาตรการกันสำรอง 30% มองว่าน่าจะยกเลิกในช่วงปลายปี เพื่อรอดูผลกระทบของซับไพร์มอีกรอบก่อน
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)กล่าวว่า จังหวะเวลาที่ กนง.ลดดอกเบี้ยจะลดลงคราวละเท่าใด และเมื่อใดนั้นขึ้นกับ ธปท.มีเงื่อนไขอย่างไร และจะให้น้ำหนักกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมากกว่ากัน
"การลดดอกเบี้ยของเฟด 2 ครั้งติดต่อกัน ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกดดันให้ ดอกเบี้ยในประเทศไทยต้องปรับลดลงตาม ส่วนจะปรับลงเท่าไหร่เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก เพราะขณะนี้ไทยก็ประสบปัญหาเรื่องของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ต้องดูว่าธปท.จะให้น้ำหนักกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมากกว่ากัน"นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวว่า กนง.คงไม่จำเป็นต้องเลื่อนการประชุมมาให้เร็วขึ้น เพราะการลดดอกเบี้ยไม่ได้ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วนัก เพราะกลไกของดอกเบี้ยกว่าจะส่งผ่านไปถึงระบบเศรษฐกิจต้องผ่านตัวกลางอีกมาก ต่างกับนโยบายการคลังที่ถ้าสามารถกระตุ้นได้เลย
ดังนั้น ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันการกระตุ้นเศรษฐกิจควรใช้นโยบายด้านการคลังจะดีกว่า เช่น การเพิ่มงบประมาณกลางปี ที่มองว่าจำเป็น เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ ขณะเดียวกันอาจใช้มาตรการภาษีมาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง
"การใช้นโยบายทางการคลัง ขณะนี้ ถือว่ายังทำได้ เพราะฐานะการคลังยังดีอยู่ แต่การทำงบประมาณขาดดุล ไม่ควรทำติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะจะกลายเป็นเรื่องของยาเสพติด ในระยะยาวจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี" นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ขณะนี้ว่า หากดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ปรับลดลงก็อาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัวตามไปด้วย แต่จะมากน้อยแค่ไหน หรือเมื่อไหร่ขึ้นกับจังหวะตลาดและภาวะการแข่งขันด้วย
"ขณะนี้เองแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์เองไม่คิดว่าจะเป็นขาขึ้นแล้วในปีนี้ น่าจะเป็นลักษณะของการทรงตัว หรือขาลง ทั้งเงินกู้และเงินฝากมากกว่า" นายประสาร ระบุ
นายประสาร กล่าวว่า สำหรับความกังวลในเรื่องของส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐที่ต่างกันมากจะส่งเรื่องของเงินทุนไหลเข้าไทยจำนวนมากว่า ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้โดยหลักการแล้วควรมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ได้แล้ว แต่เนื่องจากตอนนี้เป็นจังหวะที่เลวร้ายที่สุด เพราะเงินดอลลาร์กำลังปั่นป่วน ผันผวน เศรษฐกิจโลกกำลังอ่อนแอ
ดังนั้น หากการยกเลิกมาตรการเลื่อนไปเป็นกลางปีหรือสิ้นปี อาจจะเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมกว่า
"ที่ต้องรอปลายปี เพราะจะได้สามารถรอผลของปัญหาซับไพร์มในสหรัฐด้วย และจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังไม่เกินดุลมากนัก ดังนั้นช่วงปลายปีเป็นจังหวะที่ดีที่จะยกเลิก" นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวว่า เศรษฐกิจปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของเศรษฐกิจนอกประเทศ ทั้งการค้าระหว่างประเทศ ตลาดการเงิน ในเรื่องของเศรษฐกิจสหรัฐ ซับไพร์ม ราคาสินค้าที่กำลังทยอยปรับเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวนและอยู่ในระดับสูง กลายเป็นภาระต้นทุนการผลิต การเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน
"ปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดที่กล่าวมาถึงเชื่อมโยงไปถึงความเชื่อมั่นประชาชน ภาคเอกชน ทั้งด้านการลงทุนและการบริโภค" นายประสาร ระบุทิ้งท้าย
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--