พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม มีกำหนดการเดินทางเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation – BRF) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 26 - 27 เมษายน 2562 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
หัวข้อหลักของการประชุม BRF ครั้งที่ 2 คือ Belt and Road Cooperation : Shaping a Brighter Shared Future ซึ่งจะมีผู้นำจาก 38 ประเทศเข้าร่วม โดยจะมีการรับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมผู้นำโต๊ะกลม (Leaders’ Roundtable) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของประเทศที่อยู่ในเส้นทางสายไหมในการส่งเสริมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงทุกมิติ รวมทั้งการเชื่อมโยงนโยบายการพัฒนาร่วมกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศที่อยู่ในเส้นทางสายไหมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยประเด็นที่นายกรัฐมนตรีจะผลักดันในที่ประชุม มีดังนี้
1. เน้นย้ำบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียนในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ และแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับจีนเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและภูมิภาค ผ่าน MPAC 2025 และ ACMECS Master Plan ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันกับ BRI บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ความโปร่งใส การเปิดกว้างและครอบคลุมทุกภาคส่วน และการเคารพกฏหมายระหว่างประเทศ
2. ขยายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมนโยบายประเทศไทย 4.0 นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค และการยกระดับสถานะไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ คมนาคม และการขนส่งของอาเซียน และเป็นประตูสู่อาเซียนของจีน
3. ผลักดันให้จีนใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ ACMECS ในการเป็นตัวเชื่อมจีนและอาเซียน และส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างกรอบความร่วมมือระหว่างมณฑลกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Greater Bay Area - GBA) และกรอบความร่วมมือพื้นที่สามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (Pan - Pearl River Delta - PPRD) กับ EEC
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้พบปะหารือกับผู้นำระดับสูงของจีน ได้แก่ ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อ เฉียง และ รองนายกรัฐมนตรีหาน เจิ้งด้วย โดยนายกรัฐมนตรีจะหารือถึงแนวทางการกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ การสานต่อและผลักดันความร่วมมือทวิภาคี โดยเฉพาะความเชื่อมโยงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและดิจิทัล การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงความร่วมมือจีน – ญี่ปุ่น ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนในอนุภูมิภาคและภูมิภาค ย้ำถึงความสำคัญของบทบาทที่สร้างสรรค์ของจีนในภูมิภาค และการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของประเทศไทย
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้จัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนพบหารือและสร้างเครือข่ายกับบริษัทเป้าหมายรายใหญ่ในรูปแบบ Business Networking Dinner โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐของไทยเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อนำเสนอนโยบายส่งเสริมการลงทุน ความคืบหน้าโครงการลงทุนสำคัญๆ ของภาครัฐ ตลอดจนโอกาสทางการลงทุนและความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทยและจีน
โดยกิจกรรม Business Networking Dinner คณะจะได้พบหารือกับบริษัทจีนรายใหญ่ จำนวน 14 ราย ซึ่งเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย มีศักยภาพและมีแผนขยายการลงทุนในต่างประเทศซึ่งหลายบริษัทได้แสดงความสนใจลงทุนในประเทศไทย และพร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วย เช่น กิจการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ดิจิทัลเทคโนโลยี กิจการยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้พลังงานทดแทน กิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อุปกรณ์สนับสนุนระบบบิ๊กดาต้า และระบบคลาวด์ เป็นต้น
ที่ผ่านมา การลงทุนของจีนในไทยมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 จีนนับเป็นนักลงทุนจากต่างประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงเป็นอันดับ 3 มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน มูลค่า 55,475 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2560 ที่มีมูลค่า 25,762 ล้านบาท สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ ผลิตภัณฑ์โลหะเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง อันดับสอง คือ ธุรกิจบริการและสาธารณูปโภค อันดับสาม คือ ธุรกิจเหมืองแร่ เซรามิกส์และโลหะ