สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ไทยปี 62 เหลือโต 3.8% จากก่อนหน้านี้คาดโต 4.0% หลังคาดมูลค่าการส่งออกหดตัวเหลือโต 3.4% จากเดิมคาดจะขยายตัวได้ 4.5% เนื่องจากภาพรวมมูลค่าการส่งออกในไตรมาส 1/62 ติดลบ 1.6% ตามทิศทางการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและการค้าโลก และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ ส่งผลให้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม การส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายระยะเวลามาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival: VOA) ส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัว 2.4% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.9-2.9%)
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า การปรับลดตัวเลคาดการณ์ GDP และ ส่งออกของไทยในปี 62 ลงจากคาดการณ์เดิมนั้น เป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศเป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ ขณะที่คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกจะขยายตัวได้ราว 3% ก่อนจะขยายตัวเพิ่มเป็น 4.5-4.6% ในช่วงครึ่งหลังของปี
ขณะที่แรงส่งจากโครงการลงทุนของภาครัฐยังคงมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2562 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 2.0% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.5-2.5%) และ 4.6% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 4.1-5.1%) ตามลำดับ
นอกจากนี้ ในปีนี้ยังคาดว่าโครงการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ยังจะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าปีก่อนหน้าอีกด้วย โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 4.1% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.6-4.6%) สำหรับการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.2% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.7-4.7%) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการจ้างที่เพิ่มขึ้น สำหรับการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัว 3.4% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.9-3.9%) ชะลอลงจากปีก่อนหน้าตามการส่งออกสินค้าและการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 62 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.4% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.9-1.9%) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามแนวโน้มต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากการที่สหรัฐฯ ยุติการยกเว้นมาตรการลงโทษตอ่ประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
ส่วนเสถียรภาพภายนอกประเทศคาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 37.8 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็น 6.8% ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 6.3-7.3% ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุล 24.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 61 จะขยายตัว 3.5% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3-4%) ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัว 3.4% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.9-3.9%)