นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมี.ค.62 และไตรมาส 1/62 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคยังขยายตัวได้ แม้ว่าจะชะลอลงจากไตรมาสก่อน นำโดยกรุงเทพและปริมณฑล ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน การลงทุนภาคเอกชนที่ยังขยายตัวในหลายภูมิภาค และการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี
*กทม.และปริมณฑล
เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือน มี.ค.62 ขยายตัว 13.9% และ 1.3% ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ในไตรมาส 1/62 ขยายตัว 15.9% และ 2.2% ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะปทุมธานี และสมุทรปราการ เป็นต้น สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.2% ต่อปี
เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาส 1/62 ขยายตัว 6.7% และ 16.4% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดนครปฐม และปทุมธานี รวมถึงเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือน มี.ค.62 อยู่ที่ 2,683 ล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาส 1/62 มีเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการอยู่ที่ 10,506.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัว 58.1% ต่อปี จากการลงทุนเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร
สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในไตรมาส 1/62 ขยายตัวที่ 6.4% ต่อปี จากการขยายตัวทั้งของชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่ 6.5% และ 6.4% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค.62 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ 1.8% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน ก.พ.62 อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน มี.ค.62 ขยายตัวที่ 9.7% ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาส 1/62 ขยายตัวอยู่ที่ 4.8% ต่อปี ตามการขยายตัวในจังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี และกาญจนบุรี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 1/62 ขยายตัวที่ 11.5% ต่อปี จากการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือน มี.ค.62 ขยายตัว 7.9% และ 15.2% ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาส 1/62 ขยายตัว 9.7% และ 2.6% ตามลำดับ สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 2,487 ล้านบาท ขยายตัว 38.5% ต่อปี ตามการลงทุนในโรงงานผลิตผลิตเหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณในจังหวัดเพชรบุรี และโรงงานผลิตสับปะรดกระป๋อง และน้ำสับปะรดกระป๋อง ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นสำคัญ
ด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในไตรมาส 1/62 ขยายตัว 8.6% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนของคนไทยและคนต่างประเทศ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือน มี.ค.62 อยู่ในระดับต่ำที่ 1.2% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน ก.พ.62 อยู่ที่ 0.5% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
*ภาคตะวันออก
เศรษฐกิจขยายตัวจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม และการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัว สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือน มี.ค.62 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 5.5% และ 7.8% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ในเดือน มี.ค.62 ที่ยังคงอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 111.9 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์
สำหรับด้านอุปสงค์ ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน จากการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน มี.ค.62 ขยายตัว 14.1% ต่อปี ส่งผลให้ไนไตรมาส 1/62 ขยายตัว 4.6% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดฉะเชิงเทราและระยอง เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 7.8% ต่อปี
ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชน จากเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการในเดือน มี.ค.62 มีมูลค่า 2,416.4 ล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 31,254.1 ล้านบาท ขยายตัว 198.5 ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานชิ้นส่วนยานยนต์และโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าในจังหวัดระยองเป็นสำคัญ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือน มี.ค.62 อยู่ในระดับต่ำที่ 0.8% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน ก.พ.62 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
*ภาคกลาง
เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชน และอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือน มี.ค.62 ขยายตัว 7.8% ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1/62 ขยายตัว 12.1% ต่อปี จากการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชัยนาทและสระบุรี เป็นต้น สอดคล้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 1/62 ขยายตัว 2.5% ต่อปี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ในเดือน มี.ค.61 ขยายตัว 7.8% ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาส 1/62 ขยายตัว 12.1% ต่อปี รวมถึงเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการในไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 8,565.7 ล้านบาท ขยายตัว 38.2% ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจังหวัดสระบุรีเป็นสำคัญ ตามลำดับ
ด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลาง ในเดือน มี.ค.62 ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 99.0 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จาการเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี รายได้จากการเยี่ยมเยือน ในไตรมาสที่ 1/62 ขยายตัว6.3% ต่อปี จากการขยายตัวทั้งคนไทยและต่างประเทศที่ 5.9% และ 8.3% ต่อปี ตามลำดับ
ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือน มี.ค.62 อยู่ในระดับต่ำที่ 0.02% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน ก.พ.62 อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
*ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน มี.ค.62 ขยายตัว 8.5% ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาส 1/62 ขยายตัว 5.6% ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 1/62 ขยายตัวที่ 9.2% ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ อุบลราชธานี และนครพนม เป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรทรงตัว แต่มีเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 1,997.6 ล้านบาท ขยายตัว 11.7 ต่อปี
ด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือน มี.ค.62 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 94.7 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและอุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นต้น เช่นเดียวกันกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือน มี.ค.62 ขยายตัว 5.4% ต่อปี
ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือน มี.ค.62 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 1.4% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน ก.พ.62 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
*ภาคเหนือ
เศรษฐกิจทรงตัว จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แต่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน มี.ค.62 ขยายตัว 4.4% ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาส 1/62 ขยายตัว 3.0% ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 1/62 ขยายตัว 7.8% และ 1.9% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดน่าน อุทัยธานี และเพชรบูรณ์ เป็นต้น สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจาก ยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาส 1/62 ขยายตัว 16.3% และ 5.0% ต่อปี ตามลำดับ
ด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราชะลอลง จากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในไตรมาส 1/62 ขยายตัว 2.6% ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 10.1% ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ
ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือน มี.ค.62 อยู่ในระดับต่ำที่ 1.2% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน ก.พ.62 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
*ภาคใต้
เศรษฐกิจทรงตัว จากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม แต่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือน มี.ค.62 ขยายตัว 6.3% ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาส 1/62 ขยายตัว 8.1% ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากรายได้ผู้เยี่ยมเยือนของคนไทยและคนต่างประเทศที่ขยายตัว 7.3% และ 8.3% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคใต้ ในเดือน มี.ค.62 ที่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 81.9 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง และอุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ เป็นต้น
ด้านอุปสงค์ปรับตัวลดลง ตามการลดลงของจากการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในไตรมาส 1/62 หดตัวลง -2.9% และ -2.0% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่มีเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในไตรมาส 1/62 มีมูลค่าอยู่ที่ 1,906.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัว 150.5% ต่อปี ตามการลงทุนในจังหวัดสุราษฎ์ธานี กระบี่ และสงขลาเป็นสำคัญ
ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือน มี.ค.62 อยู่ในระดับต่ำที่ 1.2% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน ก.พ.62 อยู่ที่ 1.5% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค