ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25-2.50% ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 30 เมษายน-1 พฤษภาคม 2562 ทั้งนี้ การส่งสัญญาณผ่อนปรนในการดำเนินโยบายการเงินของเฟด จะช่วยประคองการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ แม้ตลาดมองว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เฟดอาจจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในช่วงปลายปี 2562 แต่เฟดคงไม่น่าจะส่งสัญญาณถึงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าวในระยะอันใกล้ เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอาจถูกตลาดตีความถึงแนวโน้มที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่วัฎจักรชะลอตัวในระยะข้างหน้าได้ ทั้งนี้ แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปีนี้ จะขยายตัวค่อนข้างดีที่ 3.2% QoQ,SA (โดยขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.2%) แต่ปัจจัยที่หนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับสูงดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยชั่วคราวทั้งการปรับเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง ตลอดจน การปรับลดลงของการนำเข้าสินค้า
นอกจากนี้ เมื่อมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 2/62 และไตรมาส 3/62 ยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่อาจฉุดรั้งการขยายตัว ได้แก่ ปัจจัยในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดกำลังการผลิตของบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองที่ผูกโยงกับประเด็นความเสี่ยงทางการคลังของสหรัฐฯ (ประเด็นเพดานหนี้ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ตลอดจนประเด็นการสร้างกำแพงกั้นชายแดนแม็กซิโกที่อาจส่งผลให้รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ อาจเผชิญปัญหาในการผ่านพรบ. งบประมาณในช่วงปลายปี) รวมถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากระดับเป้าหมายที่ 2.0% ในระยะข้างหน้า แม้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างตึงตัวก็ตาม
ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง ได้แก่ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจยูโรโซนซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะถดถอยค่อนข้างสูงในปีนี้
ด้วยสาเหตุต่างๆ ดังกล่าว จึงทำให้เฟดสามารถที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึงช่วงปลายปีนี้เป็นอย่างน้อยเพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฟดคงส่งสัญญาณที่จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด (Data Dependent)
แม้ตลาดมีมุมมองความเป็นไปได้มากขึ้นที่เฟดอาจจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่เฟดคงไม่น่าจะส่งสัญญาณถึงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าวในระยะอันใกล้ ทั้งนี้ ตลาดการเงินเริ่มมีมุมมองว่าเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในช่วงปลายปี 2562
อย่างไรก็ดี เฟดไม่น่าที่จะส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าวในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากเฟดน่าจะรอประเมินผลของการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายผ่อนปรน ทั้งการสื่อสารต่อตลาดถึงมุมมองที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินตลอดทั้งปี 2562 รวมทั้ง การปรับเปลี่ยนการปรับลดขนาดการลดงบดุลของเฟดในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลจากระดับ 3.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน เหลือระดับ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนในเดือนพฤษภาคม และสิ้นสุดมาตรการในเดือนกันยายน 2562 ว่าแนวทางดังกล่าว สามารถช่วยประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลลบการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เฟดคงจะพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ อาทิ การพิจารณาซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอีกครั้ง เพื่อช่วยเพิ่มความผ่อนคลายทางการเงิน ก่อนที่จะพิจารณาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งจะเป็นประเด็นที่มีผลต่อการปรับตัวของตลาดที่ค่อนข้างแรง เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอาจถูกตลาดตีความถึงแนวโน้มที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่วัฎจักรชะลอตัวในระยะข้างหน้าได้
สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทย การส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ คงเป็นปัจจัยที่ตลาดการเงินรับรู้ไปบางส่วนแล้ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวคงส่งผลต่อการปรับตัวของเงินดอลลาร์ฯ ที่คงไม่น่าจะปรับแข็งค่าจากระดับปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงนี้คงจะขึ้นอยู่กับปัจจัยในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะพัฒนาการของการเมืองในประเทศ ขณะที่การปรับเปลี่ยนท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดน่าจะส่งผลดีต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ รวมทั้งไทย ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นรวมทั้งสามารถที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่สอดคล้องกับพัฒนาการของเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น