สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ 115.68 ปรับลดลง 2.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนมี.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 74.38%
โดยประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตในเดือนมี.ค. ได้แก่ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (หักทอง) ของไทยหดตัว 6.1% ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกไทยยังติดลบส่วนหนึ่ง คือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงกระทบกำลังซื้อทั่วโลกลดลง รวมถึงการส่งออกด้วย โดยพบว่าการส่งออก 60 ประเทศ ใน 94 ประเทศทั่วโลกมีตัวเลขการส่งออกที่ติดลบ
นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า ดัชนีอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. ยังคงแข็งแกร่ง แม้ได้รับผลกระทบจากอากาศที่ร้อนจัดที่ส่งผลให้สินค้าเกษตรซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารมีจำนวนลดลง รวมถึงการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
สำหรับอุตสาหกรรมหลัก ที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค.ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ ที่ขยายตัว 2.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรถปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดกลาง โดยเป็นไปตามความต้องการของตลาดภายในประเทศหลังสิ้นสุดมาตรการรถยนต์คันแรก ผู้ผลิตได้เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย (บางกอกมอเตอร์โชว์) โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 27 แล้ว รวมถึงการส่งออกที่ขยายตัวในตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ส่งผลให้ปริมาณการผลิตรถยนต์สูงที่สุดในรอบ 68 เดือน
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัว 2.01% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันเบนซิน 95 เป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามความต้องการใช้ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น
ยา ขยายตัว 13.28% จากผลิตภัณฑ์ยาเม็ด ยาฉีด ยาผง และยาครีม เนื่องจากผู้ผลิตบางรายได้เร่งการผลิตเต็มที่หลังจากการติดตั้งเครื่องจักรใหม่ตั้งแต่ต้นปี
ผลิตภัณฑ์นม ขยายตัว 6.85% เนื่องจากในปีนี้มีปริมาณน้ำนมดิบมากขึ้น ผู้ผลิตจึงต้องผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม รวมถึงการเปิดช่องทางใหม่ๆ ในการจำหน่ายสินค้า และขยายไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ เมียนมา มาเลเซีย และ กัมพูชา
น้ำมันปาล์ม ขยายตัว 4.63% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและปาล์มบริสุทธิ์ โดยมีสาเหตุจากอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้ผลปาล์มสุกเร็วขึ้น อีกทั้งเกษตรกรหลายพื้นที่ได้เปลี่ยนมาปลูกน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จากดัชนีผลผลิตอุตสากรรมเดือนมี.ค.ที่หดตัวลง ทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาส 1/62 หดตัว 1.13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับภาวะอุตสาหกรรมสาขาสำคัญในไตรมาส 1/62 ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตรถยนต์ 561,487 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.04% โดยเป็นการจำหน่ายในประเทศ 263,549 คัน เพิ่มขึ้น 11.16% และเป็นการส่งออก 299,841 คัน เพิ่มขึ้น 1.56%
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตและการส่งออกในไตรมาส 1/62 ยังคงทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 0.3% และ 0.1% ตามลำดับ แม้จะมีปัจจัยลบอย่างเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับสินค้าเกษตรที่ Over Supply ในปีก่อน อย่างสับปะรดกระป๋อง รวมทั้งการเร่งระบายสต็อกไก่สดแช่แข็งที่ผลิตไว้ในช่วงปลายปี และฐานในปีก่อนค่อนข้างสูง แต่ยังคงมีปัจจัยบวกสำคัญจากการเร่งกำลังการผลิตน้ำตาลให้ทันช่วงปิดหีบอ้อย
อีกทั้งความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในสินค้าแป้งมันสำปะหลัง ทูน่าประป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง และไก่แปรรูปในประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และกลุ่มประเทศอาเซียน
อุตสาหกรรมปิโตรเคมี การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.59% จากการผลิตเพื่อการส่งออกที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาปิโตรเคมีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,185 เหรียญสหรัฐ/ตัน
นายอิทธิชัย กล่าวว่า สำหรับในเดือนเม.ย. ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิต ได้แก่ มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบหักทองเดือนมี.ค. ติดลบ 8.6% โดยเป็นการติดลบเป็นครั้งที่ 3ใน 4 เดือนหลังสุด อาจส่งผลต่อ MPI ในช่วงเวลาข้างหน้า
ส่วนปัจจัยภาวะเศรษฐกิจโลกที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จะส่งผลต่อ MPI ในระยะถัดไปอย่างไรนั้น นายอิทธิชัย กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมมีพื้นฐานที่ค่อนข้างเข้มแข็ง เราผ่านช่วงเวลาวิกฤติมาหลายรอบ ภาคอุตสาหกรรมไทยมีการพัฒนาไปค่อนข้างมาก ผลิตสินค้าที่เป็น Hi end ขึ้น คุณภาพเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ส่วนปัจจัยที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI ในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม เช่น ภัยแล้ง เศรษฐกิจโลก ซึ่ง 60 ประเทศใน 94 ประเทศทั่วโลกมีตัวเลขการส่งออกติดลบแน่ๆ ไม่มีใครฝืนได้ และเราก็ต้องเตรียมการรองรับ
"เดิมประมาณการว่า MPI ทั้งปีจะขยายตัว 2-3% หากไตรมาส 1/62 ออกมาติดลบ 0.6% แต่ตัวเลขที่ออกมาในไตรมาสแรกติดลบ 1.13% ถือว่าผิดไปจากประมาณการไม่มาก จึงต้องรอดูสถานการณ์ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ที่สำคัญคือเรายังต้องประเมินสถานการณ์จากปัจจัยการค้าโลกที่เราคาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อม ใน 2 ส่วนคือ ผลกระทบทางอ้อมกับคู่สงครามการค้าคือสหรัฐฯและจีน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าเราอาจจะได้รับอานิสงส์ในด้านบวก อีกส่วนคือกลุ่มประเทศที่เราส่งออกสินค้าไปและมีการค้าขายกับสหรัฐฯและจีนด้วย ซึ่งสินค้าที่มีการทำสงครามการค้ามีประมาณ 6 พันรายการ พบว่ามีการขึ้นภาษีหลายระดับ 5%, 10% จนถึง 25% และมีการขึ้นภาษี 3 รอบ"
สศอ.จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประเมินเป็นรายเดือนเพื่อให้เอกชนเตรียมการรองรับ ซึ่งมีบางรายการที่เราจะได้ประโยชน์และทางกระทรวงอาจจะมีการเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา
นายอิทธิชัย กล่าวต่อว่า สิ่งที่ สศอ.นำมาใช้ประเมินภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศคืออัตราการว่างงาน ซึ่งอัตราการว่างงานไตรมาส 1 ปี 62 อยู่ที่ 0.9% ซึ่งอัตราการว่างงานไทยไม่เคยเกิน 1% ตัวนี้สะท้อนว่าคนยังมีงานทำในภาคการผลิต ยังมีรายได้และรายได้ก็ไม่ต่ำเพราะเรามีการปรับขึ้นค่าแรงกันอยู่
"ประเทศไทยมีการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 6 ล้านคน อัตราการว่างงานที่ 0.9% ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นอัตราการว่างงานปกติ...ภาวะเงินเฟ้อไม่สูงมาก ราคาสินค้าไม่แพง คนมีงานทำ..เพราะฉะนั้น ภาคอุตสาหกรรมก็พร้อมจะผลิต" นายอิทธิชัย กล่าว
นายอิทธิชัย กล่าวต่อว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ขยายตัว 2-3% ถือว่ายังใหญ่กว่าเวียดนามที่ขยายตัว 8-10%