น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์จะยังไม่ปรับลดเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ลงจากเดิมที่ตั้งไว้ที่ 8% โดยจะขอประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกไทยและการค้าโลกร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ในวันที่ 31 พ.ค.นี้ก่อน
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการที่ส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 8% ตามเป้าหมายนั้น จะต้องมีมูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนถึง 23,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ 3 เดือนแรกของปีนี้ยังไม่สามารถทำได้ ดังนั้น จะขอประเมินตัวเลขการส่งออกในเดือนเม.ย.นี้อีกครั้ง หากยังทำไม่ได้ก็จะพิจารณาปรับเป้าหมายดังกล่าวลง
น.ส.บรรจงจิตติ์ กล่าวว่า จากการประชุมประเมินสถานการณ์ส่งออกในไตรมาส 2/2562 ร่วมกับภาคเอกชนในวันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อขับเคลื่อนและเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าระหว่างประเทศ โดยจะมีการจัดประชุมร่วมกับภาคเอกชนเป็นระยะ เพื่อแก้ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า การส่งออกของไทย ซึ่งหากมีประเด็นที่เห็นควรเสนอขอความเห็นชอบในระดับนโยบาย ก็จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป แต่หากสามารถแก้ปัญหาในระดับหน่วยงานหรือระดับกระทรวงได้ ก็จะรีบดำเนินการทันที
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออกไทยในช่วงไตรมาส 2 ภาคเอกชนมีความเห็นว่าต้องปรับลดเป้าหมายการส่งออกไทยในปีนี้ใหม่ เหลือเพียง 2.1% ที่มูลค่า 257,750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.1% ซึ่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยหลักๆ แล้วมาจากปัจจัยภายนอก ทั้งเศรษฐกิจการค้าโลกที่ชะลอตัว รวมทั้งปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
"หากจะทำให้ได้ 2.1% ในแต่ละเดือน ต้องส่งออกให้ได้ 21,560 ล้านเหรียญฯ ทั้งนี้ ผลกระทบของการส่งออกส่วนใหญ่มาจากปัจจัยจากภายนอก ทั้งคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่มีในมือผู้ส่งออกขณะนี้ที่ลดลงจากช่วงก่อนหน้า รวมถึงเศรษฐกิจ และการค้าโลกที่ยังชะลอตัวลง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่ยังไม่จบ แม้มีสัญญาณในทางที่ดีขึ้น รวมถึงไทยยังเสียเปรียบคู่แข่งบางประเทศที่ทำ FTA กับคู่ค้ารายใหญ่ และไทยยังถูกตัดสิทธิ GSP จากญี่ปุ่นอีก" รองประธานสภาหอการค้าฯ ระบุ
อย่างไรก็ดี สำหรับการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.1% นั้น แยกเป็น การส่งออกสินค้าเกษตร 1.6% โดยสินค้าสำคัญ เช่น ข้าว, ปริมาณส่งออกลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 11 ล้านตัน เหลือ 9.5 ล้านตัน มันสำปะหลัง ลดลง 10% น้ำตาล ลดลง 8% ส่วนยางพารา เพิ่มขึ้น 5% อาหาร เพิ่มขึ้น 5% แต่หากรัฐบาลสนับสนุนการส่งออกอาหารมากขึ้น ก็น่าจะขยายตัวได้มากกว่านี้
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 2.3% มาจากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 1.4% ยานยนต์และชิ้นส่วน เพิ่มขึ้น 3% เครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 1.1% เม็ดพลาสติก เพิ่มขึ้น 2% อัญมณีรวมทองคำ เพิ่มขึ้น 3% น้ำมัน เพิ่มขึ้น 2% วัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 5% ผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มขึ้น 7% เครื่องจักร เพิ่มขึ้น 3% สิ่งทอ เพิ่มขึ้น 3% และเคมีภัณฑ์ เพิ่มขึ้น 2%