หลังจากการส่งออกเดือนมี.ค. 62 มีมูลค่า 21,440.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -4.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 663,225 ล้านบาท หดตัว -5.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้าในเดือนมีนาคม 2562 มีมูลค่า 19,436 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ ภาพรวมช่วงเดือนม.ค.- มี.ค.2562 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 61,988 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 1,975,838 ล้านบาท หดตัว -2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
"ปีนี้คงยากที่จะได้เห็นการส่งออกขยายตัวได้ 5% หลังจากตัวเลขในไตรมาสแรกออกมาติดลบ 1.6%" น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออก กล่าว
สำหรับตัวเลขการส่งออกในเดือน เม.ย.62 ที่มีวันหยุดหลายวัน หากสามารถรักษาระดับการส่งออกให้มีมูลค่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ใกล้เคียงกับปีก่อนได้ก็จะช่วยให้สถานการณ์ส่งออกในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสแรก
สำหรับความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ประกอบด้วย 1) เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้กระทบกำลังซื้อ สอดคล้องกับองค์การการค้าโลก (WTO) ประเมินว่าการค้าโลกเริ่มชะลอตัวลงชัดเจน
2) มูลค่าการส่งออกของเวียดนามที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดศักยภาพของไทย แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากสินค้าส่งออกจากไทยและเวียดนามเป็นสินค้าที่มีความใกล้เคียงกันจนสามารถเป็นสินค้าทดแทนได้ จากความได้เปรียบทางด้านภาษีจากทั้ง GSP และ FTA
3) ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการอ่อนค่าตามทิศทางภูมิภาค หลังดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักทั้งหมด ซึ่งผู้ประกอบการหลายอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบจากความผันผวน
4) ปรากฏการณ์เอลนินโญ่ ทำให้เกิดภัยแล้งซึ่งเป็นที่น่ากังวลต่อสินค้าเกษตรในกลุ่มพืชระยะสั้น แต่กลุ่มพืชยืนต้นจะยังไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากติดดอกมาจากในฤดูกาลที่แล้ว และ 5) แนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้
ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อรัฐบาลใหม่ ประกอบด้วย 1) ภาครัฐควรสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการส่งออกสินค้าและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของภูมิภาค ซึ่งปัจจัยของการปรับปรุงเรื่องกฎระเบียบการค้าให้เหมาะสม ลดขั้นตอนทางกฎหมายที่มีความซ้ำซ้อนออก (Regulatory Guillotine) รวมถึงขั้นตอนการขออนุญาตให้นำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตแล้วส่งออก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการให้สามารถส่งออกและส่งเสริมให้เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC เป็นฐานการผลิตของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง
2) ความแปรปรวนจากทางด้านภูมิอากาศที่ร้อนจัดก่อให้เกิดภัยแล้งในปัจจุบัน ภาครัฐควรสนับสนุนให้เกษตรกรจัดการพื้นที่ในการปลูกพืชตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ (Agriculture Zoning) รวมถึงการทำเกษตรพันธะสัญญา (Contract Farming) ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งเกษตรกรและผู้ส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากจะทำให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดี และการจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรได้ และ 3) ภาครัฐควรเร่งจัดกิจกรรม Roadshow เพื่อพานักธุรกิจไทยไปเปิดตลาดและเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น