การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราช และอาคารรักษาพยาบาล ร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในการพัฒนาพื้นที่เป็นจุดเชื่อมโยงการเดินทางรถไฟฟ้าที่สมบูรณ์แบบ เพื่อให้ประชาชนและผู้ป่วยได้รับประโยชน์ในการเดินทางมาใช้บริการโรงพยาบาลศิริราชสูงสุด ตามนโยบาย One Transport for All ของกระทรวงคมนาคม โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามฯ
นายอาคม กล่าวว่า การลงนาม MOU เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล ครั้งนี้ เพื่อเป็นการบูรณาการการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณสถานีศิริราชของของรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีส้ม ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และประชาชนได้รับ ความสะดวกสบายจากการเดินทาง รวมถึงจะมีการพัฒนาการเดินทางต่อต่อเชื่อมระบบขนส่งสาธารณะอื่น ทั้ง ถนนและทางน้ำอีกด้วย ด้านข้างสถานีรถไฟฟ้า จะมีท่าเรือเพิ่มเติม เชื่อมการเดินเรือในคลองบางกอกน้อย และอนาคตจะมีการส่งต่อผู้ป่วยทางเรืออีกด้วย
บริเวณสถานีศิริราช จะเป็นพื้นที่สำคัญ โดยมีโรงพยาบาลศิริราช และมีรถไฟฟ้า 2 สายผ่าน คือ รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ของรฟท.และ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของรฟม. ขณะที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมีความจำเป็นในการขยายพื้นที่เพื่อรองรับการให้บริการด้านรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ จึงต้องมีการวางแผนร่วมกันพัฒนาในบริเวณสถานีศิริราช ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง 3 หน่วยงาน เพื่อดำเนินการออกแบบร่วมกัน เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนและผู้ป่วยให้มีความสะดวกมากที่สุด
"ข้อสรุปได้มีการออกแบบร่วมกันและสรุปค่าใช้จ่ายในแต่ละส่วนได้ชัดเจน โดยรพ.ศิริราชรับผิดชอบก่อสร้างอาคาร 15 ชั้น รฟท.ก่อสร้างสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 5 มี.ค.2562 จะเปิดประมูลในปีนี้ ก่อสร้างเสร็จเปิดให้บริการในปี 2566 ส่วน รฟม.ก่อสร้างสายสีส้ม อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการฯ เปิดให้บริการปี 2569"
นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบัน พื้นที่ให้บริการของรพ.ศิริราชน้อยกว่าความต้องการ โดยมีผู้ป่วยนอกมาใช้บริการ 8,000-10,000 คน/วัน ขณะที่ไม่สามารถขยายพื้นที่เดิมได้ ดังนั้นความร่วมมือกับรฟม.และรฟท. ในการก่อสร้างอาคารจะทำให้รองรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เฉพาะผู้ป่วยผ่าตัด จะรับได้อย่างน้อย 10,000 ราย/ปี และอนาคตจะพัฒนาระบบขนส่งทางเรือเชื่อมเข้ามายังโรงพยาบาลด้วย นอกจากนี้ จะทำทางเดินเชื่อม (Sky Walk) จากอาคารใหม่เชื่อมไปยังอาคารศิริราชเดิม และเชื่อมไปถึงถนนอรุณอัมรินทร์ ระยะทางกว่า 100 เมตร ด้วยเพื่อให้ผู้ใช้บริการจะได้รับความสะดวกที่สุด
สำหรับการก่อสร้างอาคารรพ.ศิริราช สูง 15 ชั้น โดยชั้น 1 และ 2 จะเป็นโถง สำหรับให้ประชาชนใช้ประโยชน์และเดินเชื่อมไปยังสถานีรถไฟใต้ดินสายสีส้มและสถานีรถไฟของสายสีแดงได้ ส่วน ชั้น 3- ชั้น 15 เป็นส่วนการรักษาพยาบาล และห้องพักผู้ป่วย พื้นที่คลินิก โดยประเมินค่าก่อสร้างอาคารประมาณ 2,000 ล้านบาท ขณะนี้ออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติ EIA โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี
"ปัจจุบันการเดินทางมายังรพ.ศิริราชมีปัญหาจราจร ผู้ป่วยและญาติใช้เวลานาน ความร่วมมือด้านคมนาคมที่มีระบบรถไฟฟ้าและการเข้าสู่อาคารที่สะดวกในเวลาที่ควบคุมได้ ซึ่งอาคารหลังนี้จะเน้นสำหรับผู้ป่วยด้อยโอกาส ระบบการรักษาที่ตรวจหรือการผ่าตัดที่สามารถมาเช้าและกลับเย็น ภายในวันเดียวจะเกิดประโยชน์มากกับผู้ป่วย และเพิ่มจำนวนผู้เข้ารับการรักษาได้อีกด้วย"
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท. เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้บูรณาการร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ในการใช้ที่ดินของการรถไฟฯ ดำเนินการก่อสร้างอาคารรักษาพยาบาล โครงสร้างต่อเชื่อมของอาคารรักษาพยาบาลกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) อาคารสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และโครงสร้างต่อเชื่อมกับสถานีศิริราชของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช รวมถึงทางอพยพกรณีฉุกเฉิน ลิฟต์บริการผู้พิการและโครงสร้างอื่นที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมกับให้การรถไฟฯ สามารถใช้ประโยชน์อาคารรักษาพยาบาลก่อสร้างเป็นสถานีในการให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราชบริเวณชั้น 1 และชั้น 2 ของอาคาร
ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ จะดำเนินการก่อสร้างงานโครงสร้างทางวิ่งรถไฟ โครงสร้างชานชาลา ระบบรางและระบบรถไฟของระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช โดยจัดแผนการก่อสร้างให้สอดคล้องกับการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี รวมทั้งโครงสร้างเชื่อมต่อทางอพยพกรณีฉุกเฉิน ลิฟต์บริการผู้พิการและโครงสร้างอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อให้ประชาชนที่ใช้บริการได้ใรับความสะดวกในการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะทั้ง 2 เส้นทาง และการใช้บริการของโรงพยาบาลศิริราชอย่างสูงสุด
ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปลายปี 2562 โดยมีการสร้างอาคารรักษาพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นอาคารสูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น และสร้างคร่อมสถานีรถไฟฟ้าศิริราช เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นจุดเชื่อมโยงการเดินทางรถไฟฟ้าที่สมบูรณ์แบบ สามารถให้บริการผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และประชาชนได้รับประโยชน์ในการเดินทาง ตามนโยบาย One Transport for All ของกระทรวงคมนาคมที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โดยเน้นการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ (Seamless) และส่งเสริมการใช้บริการขนส่งสาธารณะโดยใช้ระบบตั๋วร่วมในอนาคต เพื่อความสุขของประชาชนคนไทยทุกคน คนไทยทุกคน