ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน เม.ย.62 ปรับลดลงจากเดือนก่อนมามาสู่ระดับ 49.2 จากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคการผลิตที่มีความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อที่ลดลง โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากลูกค้าในประเทศ นำโดยกลุ่มผลิตยานยนต์ กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มผลิตปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ยางและพลาสติก ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการและการผลิตของกลุ่มดังกล่าวลดลงตามไปด้วย
ในขณะที่ดัชนีฯ ของภาคที่มิใช่การผลิตปรับลดลงบ้างแต่ยังอยู่เหนือระดับ 50 จากกลุ่มโรงแรมและร้านอาหารที่มีความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เติบโตชะลอลง ส่งผลให้กลุ่มดังกล่าวมีความเชื่อมั่นด้านการจ้างงานลดลงด้วย เนื่องจากลักษณะโดยธรรมชาติของธุรกิจโรงแรมจะเน้นจ้างงานชั่วคราวเพื่อให้สามารถปรับกำลังแรงงานตามภาวะการท่องเที่ยวได้เร็ว
ด้านกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการที่ลดลงค่อนข้างมาก รวมทั้งมีความกังวลในการลงทุนตามแนวโน้มตลาดที่ชะลอตัวหลังมาตรการ LTV ที่มีผลบังคับใช้ในเดือนนี้
อย่างไรก็ดี เมื่อปรับฤดูกาลแล้วดัชนีฯ โดยรวมยังคงสะท้อนภาวะธุรกิจที่ทรงตัวจากเดือนก่อน
นอกจากนี้ ในเดือน เม.ย.62 ผู้ประกอบการเห็นว่าต้นทุนการผลิตที่สูงเป็นข้อจำกัดอันดับ 1 ในการดำเนินธุรกิจ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นด้านต้นทุนที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันของราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งความกังวลของผู้ประกอบการต่อนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ทั้งนี้ ความกังวลด้านการแข่งขันที่รุนแรงจากตลาดในประเทศและความต้องการจากตลาดในประเทศที่ต่ำยังคงเป็นข้อจำกัดหลักในการปรับราคาสินค้าของผู้ประกอบการส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในอีก 12 เดือนข้างหน้าปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.8%
ขณะที่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 56.8 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่มองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะขยายตัวได้จากปัจจุบัน นำโดยภาคการค้า กลุ่มผลิตเครื่องจักร กลุ่มผลิตปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ยางและพลาสติก และกลุ่มผลิตเหล็ก ตามการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชนที่คาดว่าจะปรับดีขึ้นจากสถานการณ์การเมืองที่มีความชัดเจนขึ้นในครึ่งปีหลัง