นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI)ในเดือน ม.ค.51 อยู่ที่ 119.9 เพิ่มขึ้น 4.3% จากเดือน ม.ค.50 และเพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือน ธ.ค.50
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงาน อยู่ที่ระดับ 106.4 เพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือน ม.ค.50 และเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.50
ด้านดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 127.4 เพิ่มขึ้น 4.8% จาก ม.ค.50 และเพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบกับ ธ.ค.50 ส่วนดัชนีราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารอยู่ที่ 115.4 เพิ่มขึ้น 3.9% จาก ม.ค.50 และเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับ ธ.ค.50
สาเหตุที่ CPI เดือนม.ค.51 สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.8% มีสาเหตุสำคัญจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่สูงขึ้น 1.6% จากเดือนก่อน โดยเป็นการสูงขึ้นของราคาอาหารเกือบทุกชนิด จากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผักสดได้รับความเสียหาย ขณะที่อาหารแปรรูปต่างๆ และอาหารสำเร็จรูปปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงกดดันให้ภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น
ขณะที่สินค้าหลายรายการปรับราคาสูงขึ้นด้วย เช่น น้ำมันถั่วเหลือง, ผลิตภัณฑ์นม, น้ำตาลทราย, เนยสด, กาแฟ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องนั้น สูงขึ้นเพียง 0.2% จากเดือนก่อน แม้ในเดือนม.ค.51 จะมีปรับราคาขายปลีกหลายครั้งแต่ก็เป็นการปรับขึ้นและปรับลดลง ซึ่งทำให้เฉลี่ยแล้วมีการปรับราคาขึ้นเพียง 1.5% เท่านั้น
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังคาดการณ์ด้วยว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 51 ยังอยู่ที่ระดับ 3.0-3.5% โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับดังกล่าวได้ แต่หลังจากนั้นไปแล้วกระทรวงพาณิชย์จะขอพิจารณาเป็นรายไตรมาส ซึ่งการจะปรับเป้าหมายเงินเฟ้อของทั้งปีนี้หรือไม่นั้น จะต้องดูจากปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันด้วย เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยน
ปัจจุบันเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 3.0-3.5% อยู่ภายใต้สมมติฐานของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยทั้งปีที่ 85 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนที่ 33.00-33.50 บาท/เหรียญสหรัฐ
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ธนวัฏ/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--