นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ตามที่กรมสรรพากรได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 344) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์และผลตอบแทนเงินฝากตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์ กรมสรรพากรได้หารือร่วมกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 62 เพื่อกำหนดแนวทางการส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้แก่กรมสรรพากร
โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปที่จะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ฝากเงินมากที่สุด ซึ่งเห็นพ้องกันในการแก้ไขประกาศข้างต้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ฝากเงินบัญชีออมทรัพย์ส่วนใหญ่ทั่วประเทศให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี โดยที่ธนาคารจะเป็นผู้นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยของผู้ฝากเงินแก่กรมสรรพากร แต่หากผู้ฝากเงินไม่ประสงค์จะได้รับยกเว้นภาษีต้องแจ้งแก่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยไม่ให้นำส่งข้อมูลภายในวันที่ 7-14 พ.ค.62 ซึ่งธนาคารจะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยที่ได้รับในอัตรา 15% โดยปัจจุบันกรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประกาศฉบับดังกล่าว
นายเอกนิติ กล่าวว่า การนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝาก กรมสรรพากรจะรับรู้แค่ข้อมูลดอกเบี้ยที่ทางธนาคารเป็นผู้จ่ายให้กับลูกค้า แต่จะไม่ได้รับทราบส่วนข้อมูลอื่นๆของลูกค้าธนาคาร ขอให้ทุกคนมั่นใจได้และไม่ต้องตื่นตระหนกในเรื่องนี้ และลูกค้าเงินฝากของธนาคารที่ยังต้องการได้สิทธิทางภาษีนี้ก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะทางธนาคารจะเป็นผู้นำส่งข้อมูลมาให้กรมสรรพากรเอง
ส่วนหากมีลูกค้าท่านใดไม่ประสงค์รับสิทธิทางภาษีและไม่ต้องการให้ธนาคารนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากนี้ก็จะต้องแจ้งและเขียนแบบฟอร์มกับทางธนาคาร ซึ่งลูกค้ารายนั้นจะต้องเสียอัตราภาษี 15% ของดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับตามกฏ และทางธนาคารจะต้องส่งแบบภงด.2 ให้ลูกค้าไปยื่นภาษีด้วย
"การที่กรมสรรพากรต้องทำแบบนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ลูกค้าเงินฝากของธนาคารทุกคน เพราะมีบางแบงก์ไปแนะนำกับลูกค้าในแบบที่ไม่เหมาะสม แล้วทำให้ลูกค้าบางรายโดนกรมสรรพากรปรับ ซึ่งลูกค้าก็เป็นผู้รับผิดชอบ และได้รับการบริการที่ไม่เป็นธรรม การทำแบบนี้เพื่อให้ทุกคนทำตามกฏระเบียบที่ถูกต้อง และมีความเป็นธรรมให้กับลูกค้า"นายเอกนิติ กล่าว
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การกำหนดให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยทุกบัญชีต่อกรมสรรพากรจะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าบัญชีเงินฝากส่วนใหญ่ของประเทศ ส่วนลูกค้าที่ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าว และไม่ต้องการให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กรมสรรพากร ต้องกรอกแบบฟอร์มเพื่อแจ้งความประสงค์ที่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยที่ลูกค้ามีบัญชีให้ครบทุกธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 62 เป็นต้นไป โดยการแจ้งครั้งเดียวจะมีผลตลอดไป จนกว่าลูกค้าจะมาแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ทั้งนี้ ลูกค้าที่มาแจ้งภายในวันที่ 14 พ.ค. 62 จะมีผลตั้งแต่รอบภาษีดอกเบี้ยจ่ายครึ่งปีแรกในเดือนมิ.ย. 62 เป็นต้นไป