สรรพสามิต เลื่อนเก็บภาษียาสูบตามมูลค่าออกไปอีก 1 ปี แต่ปรับขึ้นภาษียาเส้นหวังลดช่องว่างกับราคาบุหรี่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 8, 2019 10:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบว่า สืบเนื่องจากการปรับอัตราภาษียาสูบตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เมื่อเดือนตุลาคม 2560 ส่งผลให้ราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตสูงขึ้น ทำให้การบริโภคลดลง ในขณะที่การบริโภคยาเส้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการบริโภคที่ลดลงดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอุตสาหกรรม ทั้งผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้า ตลอดจนเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ อีกทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคยาเส้นที่มีการบริโภคเพิ่มขึ้น เนื่องจากยาเส้นดังกล่าวนำไปทำเป็นบุหรี่มวนเองซึ่งไม่มีก้นกรอง ทำให้ผู้บริโภครับสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น กรมสรรพสามติจึงเห็นควรให้มีการขยายเวลาในการบังคับใช้อัตราภาษีตามมูลค่า 20% และ 40% ออกไป เพื่อให้อุตสาหกรรมมีระยะเวลาในการปรับตัวอีก 1 ปี เพื่อการปรับตัวและการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิ การหาพืชทดแทน การหาช่องทางการตลาดที่เหมาะสมเพื่อการผลิตและส่งออก เป็นต้น

นอกจากการบริโภคบุหรี่ซิกาแรตที่ลดลงแล้ว ยังเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยหันมาบริโภคยาเส้นแทน (Switching Effect) ทั้งนี้ เนื่องจากมีราคาขายปลีกต่ำกว่ามาก ซึ่งการบริโภคทั้งบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้นล้วนส่งผลต่อสุขภาพ และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชาชนเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงควรปรับอัตราภาษีตามปริมาณให้สะท้อนหลักสุขภาพในอัตราภาษีที่ใกล้เคียงกัน โดยปรับขึ้นอัตราภาษียาเส้นตามปริมาณเป็น 0.10 บาท/กรัม เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว และลดช่องว่างของราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตและราคายาเส้นให้มีความใกล้เคียงกันมากขึ้น จากเดิมประมาณกว่า 300 เท่า เหลือประมาณ 17 เท่า

นายพชร ยังกล่าวถึงกรณีที่กรมสรรพสามิตได้ออกมาตรการภาษี เพื่อลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และมลพิษต่าง ๆ ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ระยะที่ 2 โดยจัดเก็บจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถจักรยานยนต์นั้น กรมสรรพสามิตได้มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ จากการจัดเก็บภาษีตามความจุของกระบอกสูบ เป็นการจัดเก็บภาษีตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการจัดเก็บภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในประเทศที่คำนึงถึงประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน และสนับสนุนทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีการประหยัดพลังงานในอนาคต ประกอบกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจากการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ จะส่งผลให้ลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และปัญหามลพิษต่าง ๆ ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศได้ โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563

เนื่องจากในปี 2562 รถจักรยานยนต์ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานมลพิษตาม มอก. ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับ ซึ่งเทียบเท่ากับมาตรฐาน Euro 4 ของสหประชาชาติ (UN) จึงเห็นควรให้กลุ่มอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ มีระยะเวลาในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมของระบบ Eco Sticker ไปพร้อมกัน ทั้งนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ จึงเห็นควรให้รถจักรยานยนต์ที่ได้รับการลดอัตราภาษีต้องปฏิบัติตามมาตรฐานยางรถจักรยานยนต์ มอก. 2720 – 2558 หรือ UN R 75


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ