นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กขนาดใหญ่จากต่างประเทศหลายรายได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งขณะนี้คงต้องรอให้คณะกรรมการชุดใหม่จากการแต่งตั้งของรัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ
สำหรับผู้ผลิตเหล็กที่ยื่นขอบีโอไอ ได้แก่ บริษัท อาเซลอร์ ผู้ผลิตเหล็กยักษ์ใหญ่ระดับโลก บริษัท นิปปอนสตีล, JFE ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่จากญี่ปุ่น และเป๋าสตีลจากจีน โดยทั้ง 4 ราย ติด Top 5 ของโลก และคาดว่าจะลงทุนไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท/โรง
ส่วนจะได้รับอนุมัติหรือไม่ขึ้นอยู่กับโครงการจะต้องเข้าเงื่อนไขที่บีโอไอกำหนด คือ มีกำลังผลิต 2 ล้านตัน/ปี แต่เชื่อว่าแต่ละโครงการน่าจะมีการออกแบบการผลิตไว้ 4 ล้านตัน/ปี, จะต้องมีการทำ R&D, การจัดการด้านมลภาวะสิ่งแวดล้อม, การสร้างความเข้าใจกับชุมชน นอกจากนี้ ทุกรายจะต้องจัดหาพื้นที่ก่อสร้างโรงงานประมาณ 5 พัน-1 หมื่น ตร.ม./โรง และเน้นรองรับดีมานด์ในประเทศ
"เมื่อวานนี้เป็นวันสุดท้ายในการปิดรับกลุ่มเหล็กต้นน้ำ ตอนนี้คงต้องรอบอร์ดใหม่เป็นผู้พิจารณา"นายสาธิต กล่าว
ส่วนกรณีโรงถลุงเหล็กของ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี(SSI)ที่เคยยื่นขอรับการส่วงเสริมผลิตเหล็กต้นน้ำนั้น เลขาบีโอไอ กล่าวว่า คงต้องยื่นเข้ามาใหม่ เพราะโครงการหมดอายุไปแล้ว
นายสาธิต คาดว่า ในปีนี้จะมีการลงทุนของผู้ประกอบการที่ขอรับการส่งเสริมลงทุนราว 5-6 แสนล้านบาท จากปี 50 ที่มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 6.55 แสนล้านบาท ซึ่งการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอจะเน้นไปที่อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
"ในปีนี้ไม่เน้นตัวเลข แต่ว่าจะเน้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาเยอะ ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายยังเหมือนปีที่แล้ว ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อิเลคทรอนิคส์และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และยังมีโครงการที่พิจารณาค้างจากปีที่แล้ว อาทิ อีโคคาร์ จากที่ยื่นมา 7 โครงการ โดยยังอยู่ระหว่างการพิจารณา 4 โครงการ และโครงการที่คาดว่าจะยื่นปีนี้ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ และเอทานอล" นายสาธิต กล่าว
นอกจากนั้ จะผลักดันอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เหล็กต้นน้ำ และอุตสาหกรรมที่มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น พลาสติกชีวภาพ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
นายสาธิต กล่าวว่า บีโอไอจะเน้นการเดินทางไปโรดโชว์ต่างประเทศ และเสนอรัฐมนตรีใหม่สานต่อนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ได้ดำเนินกาอรยู่แล้ว เช่น อีโคคาร์ อุตสาหกรรมต้นน้ำ พร้อมทั้งเตรียมการรองรับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษบกิจโลกชะลอตัว โดยจะเน้นส่งเสริมโครงการที่รองรับดีมานด์ในประเทศเป็นหลัก
รวมทั้ง การขยายการลงทุนในพื้นที่ใหม่ๆ เช่น เซาเทิร์นนซีบอร์ด เพราะขณะนี้พื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดเต็มหมดแล้ว และบีโอไอได้เสนอรัฐบาลชุดที่แล้วไปหมดแล้วว่าเซาเทิร์นซีบอร์ดควรจะครอบคลุมอุตสาหกรรมทีเกี่ยวกับพืชพลังงาน เช่น เอทานอล ไบโอดีเซล เป็นต้น รวมไปถึง อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ
--อินโฟเควสท์ โดย อตฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--