คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี เพื่อรอประเมินผลกระทบให้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง หลังมองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศยังสูงในระยะข้างหน้า
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. กล่าวว่า ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง
คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบัน มีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ประกอบกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก และปัจจัยในประเทศยังมีอยู่สูงในระยะข้างหน้า ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เพื่อรอประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น
เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากการส่งออกสินค้าและการลงทุน โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการจ้างงานโดยรวมที่เริ่มทรงตัวและมีสัญญาณการชะลอลงของการจ้างงานในภาคการก่อสร้างและภาคการผลิตเพื่อส่งออก การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความล่าช้าของโครงการลงทุนภาครัฐ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งจะติดตามความไม่แน่นอนของปัจจัยในประเทศ รวมถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่และการใช้จ่ายภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ช่วยชดเชยผลของราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งในระยะข้างหน้า สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต
ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยนนับจากการประชุมครั้งก่อน เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค ในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนจากความไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไป และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมา จะช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) ได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ภายหลังการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) มีผลบังคับใช้ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจะประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร
ทั้งนี้ การลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในช่วงต่อไป ยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ที่จะต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้แรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันยังมีความเหมาะสม โดยจะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป