ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเงินบาทในประเทศ (Onshore) ในสัปดาห์หน้า (4-8 ก.พ.51) อาจมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 32.75-33.10 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ควรจับตาได้แก่ แรงขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออก การเคลื่อนไหวของเงินทุนต่างชาติ สัญญาณการเข้าแทรกแซงตลาดของธปท.
ตลอดจนทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งจะขึ้นกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ยอดสั่งซื้อโรงงาน และยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนธันวาคม 2550 ดัชนีภาคบริการจัดทำโดยสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) เดือนมกราคม 2551 และตัวเลขผลิตภาพการผลิต และต้นทุนแรงงานต่อหน่วย (เบื้องต้น) ประจำไตรมาส 4/2550
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีครั้งใหม่เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เงินบาทแข็งค่าผ่านแนวต้านที่ 33.00 มาแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 10 ปี หลังผู้ส่งออกเทขายเงินดอลลาร์อย่างหนัก ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิหุ้นไทยในช่วงปลายสัปดาห์
ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาท เป็นไปตามความแข็งแกร่งของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ ยังถูกกดดันต่อเนื่องหลังจากเฟดทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินในช่วงปลายเดือน อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัดเนื่องจากมีแรงซื้อเงินดอลลาร์ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าเป็นการเข้ารักษาเสถียรภาพค่าเงินของธปท. สำหรับในวันศุกร์ เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 32.90 (ตลาดเอเชีย) บาทต่อดอลลาร์เทียบกับระดับ 33.02 ในวันศุกร์ก่อนหน้า (25 ม.ค.)
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/เสาวลักษณ์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 353 อีเมล์: saowalak@infoquest.co.th--