ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นศก.ไทยก่อนและหลังเลือกตั้งไม่เปลี่ยนแปลง เหตุรัฐบาลใหม่ยังมีความไม่แน่นอน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 8, 2019 18:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจความเชื่อมั่นของครัวเรือนและผู้ประกอบการต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งปี 2562 (24 มี.ค.62) โดยทำการสำรวจ 2 ครั้ง คือ ในช่วงวันที่ 25 มี.ค.62 (ครั้งที่ 1 หลังการเลือกตั้ง 1 วัน) และในช่วงวันที่ 3 เม.ย.62 (ครั้งที่ 2 หลังการเลือกตั้งประมาณ 10 วัน) เพื่อพิจารณามุมมองของคนไทยต่อภาพรวมเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง พบประเด็นที่น่าสนใจจากผลการสำรวจทั้ง 2 ครั้ง ดังนี้

ครัวเรือนและผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ ยังคงมีความคาดหวังในเชิงบวกต่อภาพเศรษฐกิจไทยภายหลังการเลือกตั้ง สังเกตได้จากผลการสำรวจครั้งที่ 2 โดยกลุ่มคนที่ "มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจลดลง" ในช่วงหลังการเลือกตั้ง (เปรียบเทียบกับช่วงก่อนการเลือกตั้ง) มีสัดส่วนลดลงเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งแรก ในขณะที่กลุ่มคนที่ "มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น" และ "มีความเชื่อมั่นไม่เปลี่ยนแปลง" กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 64.3% ในการสำรวจครั้งแรก (25 มี.ค.) มาอยู่ที่ 69.5% ในการสำรวจครั้งที่ 2 (3 เม.ย.)

เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของคนไทย ระหว่างการสำรวจครั้งที่ 1 และการสำรวจครั้งที่ 2 พบว่า ครัวเรือนและผู้ประกอบการไทยที่ "มีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากก่อนการเลือกตั้ง" มีสัดส่วนลดลงจาก 47.5% ในการสำรวจครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ 28.5% ในการสำรวจครั้งที่ 2

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มคนที่ "มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจหลังเลือกตั้งเพิ่มขึ้น" จะมีสัดส่วนลดลง แต่กลับพบว่า ปัจจัยที่ทำให้คนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น มาจากการให้ความสำคัญต่อการเบิกจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ รวมถึงความต่อเนื่องในการจัดทำงบประมาณปี 2563

ในขณะที่ครัวเรือนและผู้ประกอบการไทยที่ "มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจก่อนและหลังการเลือกตั้งไม่เปลี่ยนแปลง" กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 41.1% ในการสำรวจครั้งที่ 2 จาก 16.8% ในการสำรวจครั้งที่ 1 เนื่องจากคนส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ปัจจัยทางการเมืองมีผลจำกัดต่อความเป็นอยู่ของตน โดยในสภาพทั่วไปของคนกลุ่มนี้ มีความกังวลต่อสภาวะการครองชีพของตนเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งยังมีความกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จึงยังมองความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลง

กลุ่มคนที่ "มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจลดลง" ในช่วงหลังการเลือกตั้ง มีสัดส่วนน้อยลงจาก 35.7% ในการสำรวจครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ 30.5% ในการสำรวจครั้งที่ 2 โดยในการสำรวจทั้ง 2 ครั้ง คนส่วนใหญ่ที่มีความเชื่อมั่นลดลงมาจากความกังวลในเสถียรภาพทางการเมืองหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของคนไทยระหว่างก่อนและหลังการเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้ง พบว่า ครัวเรือนและผู้ประกอบการบางส่วนที่ทำการสำรวจปรับเปลี่ยนมุมมองจาก "มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น" มาเป็น "มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลง" นั่นเป็นเพราะเห็นว่า ปัจจัยทางการเมืองในระยะข้างหน้าอาจจะมีผลจำกัดต่อสภาวะการครองชีพของตนเอง ประกอบกับยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป

อย่างไรก็ดี แม้จำนวนคนที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจะมีสัดส่วนลดลงในการสำรวจครั้งที่ 2 แต่คนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ กลับให้น้ำหนักต่อการเบิกจ่ายที่ต่อเนื่องของภาครัฐมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการสะท้อนว่า ยังมีกลุ่มคนที่ให้น้ำหนักกับสิ่งที่รัฐบาลพยายามดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโครงการใหม่ๆ รวมถึงการเร่งเบิกจ่ายของโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง โดยมองว่ามีความสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความต่อเนื่องของการลงทุนภาครัฐ น่าจะเป็นการรักษาฐานความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจไทย รวมถึงเป็นแรงประคองการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญในช่วงรอยต่อทางการเมือง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ