นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี ว่า ปากีสถานพยายามแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศด้วยการส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศและลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์และสิ่งทอสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานจึงออกประกาศคำสั่งที่ S.R.O. 237 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เพื่อแก้ไขกฎระเบียบในการนำเข้าสินค้า (Import Policy Order) พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที โดยมีสาระสำคัญดังนี้
(1) สินค้าจะต้องมีอายุการเก็บรักษา (Shelf life) อย่างน้อย 66% หรือ 2 ใน 3 ของอายุการเก็บรักษานับตั้งแต่วันที่ผลิตสินค้า (จากเดิมกำหนดไว้ที่ 50%)
(2) สินค้าจะต้องแสดงข้อมูลรายละเอียดบนฉลากบรรจุภัณฑ์ทั้งในภาษาอูรดูและภาษาอังกฤษ อาทิ คุณค่าทางอาหาร วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์
(3) บรรจุภัณฑ์ต้องแสดงเครื่องหมายรับรองฮาลาล (Halal Logo)
(4) การปิดฉลากตามข้อ 1 และ 2 จะต้องไม่ใช้แผ่นลอกและปิด (sticker) การพิมพ์ทับฉากเดิม (overprinting) การใช้ตราประทับ (stamp) หรือฉลากแบบลอกออกได้ (scratch labelling)
(5) สินค้านำเข้าจะต้องแนบใบรับรองฮาลาล (Halal Certification) ซึ่งออกโดยหน่วยงานรับรองฮาลาลที่เป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงานฮาลาล (International Halal Accreditation Forum Bod-IHAF) หรือสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาสำหรับประเทศอิสลาม (Standards Metrology Institute for Islamic Countries – SMIIC)
"กรมฯ ขอให้ผู้ประกอบการไทย ที่ทำการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังปากีสถาน ศึกษาข้อกำหนดในการส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ดี และเตรียมความพร้อมให้สามารถปฏิบัติตามระเบียบและข้อกำหนดฉบับดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย" นายอดุลย์กล่าว
ทั้งนี้ สถิติการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม ปศุสัตว์ประมง) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม ไปปากีสถาน ภาพรวม 3 ปีย้อนหลัง ปี 2559 มีมูลค่า 35,441.3 ล้านบาท ปี 2560 มูลค่า 47,440.8 ล้านบาท และปี 2561 มูลค่า 47,315.3 ล้านบาทตามลำดับ โดยในปี 2562 (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 6,614.2 ล้านบาท ลดลง 14.01% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน