BAY เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME มองเศรษฐกิจ Q2/62 เติบโตดีขึ้น อุปสงค์ในปท.-ลงทุนเอกชนเป็นแรงขับสำคัญ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 9, 2019 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (Krungsri SME Index) ในไตรมาส 1/2562 ว่า ผู้ประกอบการ SME มองเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 จะเติบโตดีกว่าในไตรมาส 1 แม้ว่าจะมีมุมมองบวกลดลงเมื่อเทียบกับการสำรวจในรอบที่แล้ว

โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ใน 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 20.23 จาก 25.42 ในไตรมาสที่แล้ว สอดคล้องกับที่วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 มีแนวโน้มขยายตัวในระดับปานกลาง เนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศลดลงตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการหดตัวของปริมาณการค้าโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ใกล้จะได้ข้อสรุป ทำให้ความไม่แน่นอนของการค้าโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะส่งผลบวกต่อการค้าโลกในช่วงครึ่งปีหลัง

ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐอาจขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งจากความล่าช้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง เพราะมีการปรับรูปแบบการลงทุนในโครงการร่วมลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) บางโครงการเพื่อให้เอกชนดำเนินการมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SME มองเศรษฐกิจไตรมาส 1 เติบโตลดลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการในภาคบริการ ที่ดัชนีความเชื่อมั่นติดลบถึง 25.16 หากพิจารณาตามขนาดธุรกิจจะพบว่า ผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กมีมุมมองต่อเศรษฐกิจในทางลบมากกว่าผู้ประกอบการขนาดกลาง ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมีนาคมที่การบริโภคภาคเอกชนเติบโตลดลงจากเดือนก่อนหน้า รวมทั้งมูลค่าการส่งออกและรายได้จากนักท่องเที่ยวหดตัว โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่า GDP ไตรมาส 1 ปี 2562 จะโตน้อยกว่า 3% ส่งผลให้ GDP ทั้งปี 2562 อาจโตไม่ถึง 3.8% ตามที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

อีกทั้งได้มีการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการทั่วประเทศ ในช่วงวันที่ 1-28 มีนาคม 2562 ในเรื่องรูปแบบการชำระเงิน พบว่าผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ 53% เลือกชำระด้วยเช็ค เนื่องจากคู่ค้ายังไม่มีการใช้ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ และไม่มั่นใจด้านความปลอดภัยของระบบและข้อมูลของการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนรูปแบบการชำระเงินในลำดับรองมา คือการชำระผ่าน Internet Banking (19%) การชำระด้วยเงินสด (15%) และการจ่ายผ่านโมบายแบงก์กิ้ง (8%) ทั้งนี้ หากพิจารณาตามพื้นที่จะสังเกตได้ว่า การชำระเงินด้วยโมบายแบงก์กิ้งเป็นที่นิยมในต่างจังหวัดมากกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก

สาเหตุที่ผู้ประกอบการเลือกช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเหตุผลด้าน 1) ความสะดวก รวดเร็ว ความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ 2) คู่ค้าส่วนมากใช้ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และ 3) ไม่มีค่าธรรมเนียม โดยผู้ประกอบการเกินกว่าครึ่งคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ธุรกิจจะมีแนวโน้มชำระเงินผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ