"กูเกิล"ออกโรงโจมตี"ไมโครซอฟท์"เสนอซื้อ"ยาฮู"ชี้เป็นข้อเสนอไม่เป็นมิตร

ข่าวต่างประเทศ Monday February 4, 2008 09:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          กูเกิล อิงค์ ได้ออกมาโจมตีไมโครซอฟท์ คอร์ป ที่ใช้ยุทธวิธีเสนอซื้อกิจการ ยาฮู อิงค์ ด้วยเม็ดเงิน 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อครอบครองกิจการยาฮู ซึ่งเป็นผู้นำด้านอินเทอร์เน็ตว่า เป็นการความเคลื่อนไหวที่ไม่เป็นมิตร 
นายเดวิด ดรัมมอนด์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฏหมายของกูเกิลกล่าวว่า "การที่ไมโครซอฟท์เสนอซื้อกิจการยาฮู ถือเป็นข้อเสนอที่ไม่เป็นมิตรและก่อให้เกิดข้อกังขาตามมามากมาย ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีอะไรแอบแฝงอยู่มากกว่าการทำธุรกรรมทางการเงินทั่วไป เมื่อบริษัทหนึ่งเข้าเทคโอเวอร์กิจการของบริษัทอีกแห่งหนึ่งนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือหลักการของอินเทอร์เน็ต คือ การเปิดกว้างและนวัตกรรม "
เสียงคัดค้านจากกูเกิลไม่ถือเป็นเรื่องแปลก เนื่องจากไมโครซอฟท์มองว่า ยาฮู เป็นอาวุธสำคัญที่ไมโครซอฟท์จะใช้ต่อกรกับกูเกิลในช่วงที่กระแสเสิร์ชเอ็นจิ้นและตลาดโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตที่กำลังเฟื่องฟู โดยที่ผ่านมานั้น ไมโครซอฟท์อธิบายว่าการเทคโอเวอร์กิจการยาฮูเป็นประโยชน์ต่อทั้งกลุ่มผู้โฆษณาและกลุ่มผู้บริโภค และเมื่อ 2 บริษัทผนึกกำลังกันจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันกับยาฮูมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่กูเกิลมองภาพรวมในเรื่องนี้แตกต่างจากไมโครซอฟท์โดยสิ้นเชิง โดยระบุว่า ไมโครซอฟท์จะฉวยโอกาสพลิกแพลงนวัตกรรมและขยายขอบข่ายในระบบปฏิบัติการวินโดว์เพื่อเซ็ทคอมพิวเตอร์พีซีที่ผู้ใช้จะถูกชี้นำให้เข้าไปใช้บริการออนไลน์โดยอัตโนมัติ อาทิ อีเมล์และการส่งข้อความแบบ instant messaging ซึ่งควบคุมโดยไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตซอฟท์แวร์รายใหญ่ที่สุดของโลก
กูเกิลยังเปิดเผยโดยให้ภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า ก่อนหน้านี้ไมโคซอฟท์ได้ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถใช้งานโปรแกรม Web Browser และแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวส่งผลให้ฝ่ายกฏหมายของกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐกล่าวหาว่า ไมโครซอฟท์ใช้ระบบปฏิบัติการอย่างผิดกฏหมายเพื่อฉกฉวยข้อได้เปรียบด้านการแข่งขัน แต่ต่อมาข้อขัดแย้งดังกล่าวได้สิ้นสุดลงในปี 2545 โดยกระทรวงยุติธรรมมีคำสั่งให้ไมโคซอฟท์ยกเลิกการดำเนินการดังกล่าวในบางส่วน
"จากพฤติกรรมในอดีต คุณคิดว่าไมโครซอฟท์จะพยายามกลับมาสร้างอิทธิพลอย่างไม่เหมาะสมและผิดกฎหมายด้วยการใช้พีซีในโลกอินเตอร์เน็ตอีกไหม?" นายดรัมมอนด์กล่าว
ด้านนายแบรด สมิธ ที่ปรึกษาทั่วไปของไมโครซอฟท์กล่าวว่า การกีดกันไมโครซอฟท์ไม่ให้เข้าเทคโอเวอร์ยาฮู ถือเป็นการทำลายระบบการแข่งขันและเป็นการเปิดทางให้กูเกิลมีอิทธิพลมากขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ต ทั้งที่เดิมกูเกิลก็มีอิทธิพลมากพออยู่แล้ว
"ไมโครซอฟท์มุ่งมั่นที่จะเน้นเรื่องการเปิดกว้าง นวัตกรรม และการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกอินเทอร์เน็ต เราเชื่อว่าการควบกิจการระหว่างไมโครซอฟท์และยูฮู จะทำให้เป้าหมายเหล่านี้เป็นจริง" สมิธกล่าว
comScore Media Metrix ระบุว่า หากการควบกิจการระหว่างไมโครซอฟท์และยาฮูเป็นไปอย่างราบรื่น ก็จะทำให้ทั้ง 2 บริษัทครองส่วนแบ่งตลาดเสิร์ชเอ็นจิ้นประมาณ 16% ซึ่งยังล้าหลังกูเกิลที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 62% แต่ไมโครซอฟท์และยาฮู ครองพื้นที่ในการให้บริการอีเมลล์และการส่งข้อความแบบ instant messaging กว้างขวางกว่ากูเกิล ซึ่งข้อได้เปรียบด้านนี้จะทำให้ไมโครซอฟท์และยาฮูอยู่ในสถานะที่ดีกว่าหากมีการรวมตัวกันได้จริง
ด้านยาฮูนั้น ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆในเรื่องนี้ แต่เปิดเผยเพียงว่าคณะกรรมการบริหารของยาฮูจะศึกษาข้อเสนอของไมโครซอฟท์อย่างระมัดระวัง
"ยาฮูจะประเมินทุกทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ของบริษัท ซึ่งรวมถึงทำให้ยาฮูคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระ" ยาฮูกล่าวผ่านเว็บไซต์
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ยาฮูแทบจะไม่มีทางเลือกและจะขายกิจการให้ไมโคซอฟท์ในที่สุด โดยราคาหุ้นยาฮูดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีทันทีที่มีข่าวว่าไมโครซอฟท์เสนอซื้อกิจการ และกำไรของยาฮูปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ปลายปี 2549 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า หากยาฮูยอมรับข้อเสนอจากไมโครซอฟท์ เจ้าหน้าที่กำกับดูแลด้านการผูกขาดทั้งในสหรัฐและยุโรปจะเริ่มทบทวนประเด็นต่างๆที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในปีที่แล้ว และคาดว่าไมโครซอฟท์จะได้รับอนุมัติให้เทคโอเวอร์กิจการยาฮูได้ในปลายปีนี้ สำนักข่าวเอพีรายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ