นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า สำหรับปีบัญชี 2562 (1 เมษายน 2562 -31 มีนาคม 2563) ธ.ก.ส.ตั้งเป้าอำนวยสินเชื่อระหว่างปี จำนวน 770,000 ล้านบาท โดยเป็นการขยายสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 95,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ที่ตรงกับความต้องการของเกษตรกรลูกค้า 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่ม Small ซึ่งเป็นลูกค้าที่ยังคงมีปัญหาด้านเงินทุนและการประกอบอาชีพ เช่น ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 13,000 ล้านบาท กลุ่ม Smart หรือกลุ่มลูกค้าทั่วไป รวมถึงทายาทเกษตรกรวงเงิน 44,000 ล้านบาท และกลุ่ม SMAEs หรือผู้ประกอบการด้านการเกษตร กลุ่มสหกรณ์การเกษตรและวิสาหกิจชุมชนที่เป็นหัวขบวนในการเพิ่มมูลค่าผลผลิต วงเงิน 38,000 ล้านบาท
ส่วนด้านเงินฝาก มีเป้าหมายเพิ่มขึ้น 60,000 ล้านบาท จากการออกผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น สลากออมทรัพย์ เงินฝากแบบมีกรมธรรม์และสวัสดิการ กองทุนทวีสุข เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการออมเงินและการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกค้าในกลุ่มต่าง ๆ
นายอภิรมย์ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานในปีบัญชี 2562 จะขับเคลื่อนภายใต้แผนการปฏิรูปภาคเกษตร ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งเน้นการปรับการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การใช้โดรนเพื่อการเกษตร การปลูกพืชโดยระบบน้ำหยด การผสมปุ๋ยใช้เอง เป็นต้น การเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับพื้นที่และความต้องการของตลาด เช่น เกษตรแปลงใหญ่ Thai Rice Nama เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น การพัฒนาสหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการ SMAEs และการเชื่อมโยงด้านการตลาด เป็นต้น
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนภายใต้หลัก "ธ.ก.ส. Go Green" โดยมีเป้าหมายสนับสนุนชุมชน 400 ชุมชน พื้นที่กว่า 40,000 ไร่ เพื่อร่วมกันผลิตอาหารปลอดภัยและการทำเกษตรอินทรีย์ พร้อมบูรณาการกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนและผลักดันให้ชุมชนมีการตรวจสอบคุณภาพการผลิตและมีการรับรองมาตรฐาน และต่อยอดโดยการรวบรวมและแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งสนับสนุนช่องทางการตลาด เช่น ตลาดชุมชน ตลาด อตก. Modern Trade ร้านอาหาร A-Farm Mart E-commerce และตลาดประชารัฐ เป็นต้น
ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการและเทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ธ.ก.ส. ได้พัฒนาการบริการผ่านแอพพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Mobile ให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงิน การถอนเงินโดยไม่ใช้บัตร ATM และชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ การซื้อสลากออมทรัพย์และบริการความรู้ด้านการเกษตรต่าง ๆ บริการบัตรเดบิต ธ.ก.ส. ที่สามารถชำระค่าสินค้าและบริการโดยไม่ต้องใช้เงินสด ซึ่งเหมาะกับ Lifestyle ของลูกค้ากลุ่มคน รุ่นใหม่ ทั้งสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย การจัดทำบริการบัตรเงินสด การจัดหาเครื่องมือทางเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนสถาบันการเงินชุมชน รวมถึงบริการเปิดบัญชีด้วยตนเอง ผ่าน ธ.ก.ส. A-Mobile
สำหรับมาตรการในการดูแลเกษตรลูกค้าที่ประสบภัยต่าง ๆ เช่น ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จนส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพทางการเกษตร ธ.ก.ส.ดำเนินการผ่านการให้สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าให้มีเงินทุนสำหรับสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย/โรงเรือนหรือเครื่องมือจักรกลทางการเกษตร หรือฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ และยังเป็นการลด/ป้องกันการก่อหนี้นอกระบบของเกษตรกร วงเงิน 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย MRR-2 วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 500,000 บาท
ส่วนถึงผลการดำเนินงานในบัญชี 2561 (1 เมษายน 2561 – 31 มีนาคม 2562) ว่า ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทแล้ว จำนวน 678,342 ล้านบาท สินเชื่อเติบโตจากต้นปี 2560 จำนวน 81,647 ล้านบาท ทำให้สินเชื่อรวม ณ สิ้นปีเท่ากับ 1,449,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีร้อยละ 5.86 มียอดเงินรับฝากรวม 1,617,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.75 มีสินทรัพย์รวม 1,873,822 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.47 หนี้สินรวม 1,738,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.80 และส่วนของเจ้าของรวม 135,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.41 โดยมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 100,883 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีร้อยละ 7.74 ค่าใช้จ่ายรวม 90,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.62 และมีกำไรสุทธิ 9,885 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.24 คิดเป็นอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) ร้อยละ 0.55 ขณะที่ NPLs อยู่ที่ร้อยละ 3.87 โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 11.82 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.50
ในช่วงปีบัญชี 2561 ธ.ก.ส. ได้ดำเนินนโยบายสำคัญ เพื่อดูแลและพัฒนาเกษตรกรลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ มาตรการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคเกษตรตามแนวทางเกษตรประชารัฐ ผ่านโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 2.92 ล้านราย จำนวนเงิน 642,605.82 ล้านบาท และโครงการขยายเวลาชำระหนี้ต้นเงินกู้ (3 ปี) มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2.91 ล้านราย จำนวนเงิน 889,815 ล้านบาท และดำเนินการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติอีก 7 แผนงาน ได้แก่ 1) แผนงานพัฒนาและยกระดับเกษตรกรผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งทำให้เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 2,156,703 ราย มีรายได้เพิ่มมากกว่า 30,000 บาท/ปี จำนวน 837,867 ราย หรือร้อยละ 51.44 และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากกว่า 100,000 บาท/ปี จำนวน 29,911 ราย หรือร้อยละ 1
2) แผนงานพัฒนาและสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร โดยมีเกษตรกรและทายาทเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาสู่ Smart Farmer และยกระดับสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ SMEs เกษตร เพื่อเป็นหัวขบวนในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต การสร้างงานและรายได้ รวม 9,485 ราย
3) แผนงานเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์การเกษตรโครงการตลาดประชารัฐ โดยจัดตลาดประชารัฐในพื้นที่สาขา ธ.ก.ส. ที่มีทำเลเหมาะสมทั่วประเทศ จำนวน 280 แห่ง มีผู้ค้าเข้าร่วมโครงการ 6,974 ราย 4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 1.92 ล้านราย พื้นที่ 27.6 ล้านไร่ โดยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 128,221 ราย พื้นที่จ่ายค่าทดแทนสินไหมกว่า 1.38 ล้านไร่ เป็นจำนวนเงิน 1,741 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. เข้าถึงประกันภัยทางการเกษตร ร้อยละ 95.82
5) แผนงานสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร (โครงการเงินออมกองทุนทวีสุข/กอช.) มีเกษตรกรที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก จำนวน 1.55 ล้านราย และมีสมาชิกที่ออมเงินต่อเนื่อง ร้อยละ 50.67
6) แผนงานพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรให้เป็นเครือข่ายทางการเงิน จำนวน 1,540 แห่ง และ 7) แผนงานพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอุดมสุข มีชุมชนเข้าร่วม 928 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการนโยบายรัฐอื่น ๆ เช่น โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าว โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูการทำนา เป็นต้น