นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐฯเตรียมปรับขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเป็น 25% ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.62 (ตามเวลาสหรัฐฯ) ว่า ถือเป็นข่าวช็อคโลกอย่างมาก เพราะโลกคาดการณ์ว่า ทั้ง 2 ประเทศน่าจะเจรจากันได้ และก่อนหน้านี้ สัญญาณต่างๆ ด้านเศรษฐกิจดีขึ้น แต่การขึ้นภาษีจริงๆ จะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอลง กระทบต่อการส่งออก การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจไทย โดยอาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ต่ำกว่า 3.5% จากเดิมที่คาดจะขยายตัว 3.8%
"เดิมให้น้ำหนักเศรษฐกิจไทยในปีนี้โต 3.5% แค่ 10% ซึ่งถือเป็นกรอบล่าง และจะให้น้ำหนัก 3.8% ในเปอร์เซ็นต์ที่มาก แต่ตอนนี้ให้น้ำหนักตัวเลข 3.5% มีความเป็นไปได้ถึง 50% ถือเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมาก เพราะเชื่อว่าจีนจะตอบโต้แน่นอน ซึ่งผลที่ตามมาก็จะทำให้การค้าทั่วโลกมีความปั่นปวน นอกจากเหนือตลาดหุ้น ตลาดทุน และจะลุกลามไปถึงการบริโภค และการท่องเที่ยวด้วย" นายธนวรรธน์ระบุ
นอกจากนี้ จะกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยด้วย เพราะเมื่อจีนส่งออกไปสหรัฐฯได้ลดลง เศรษฐกิจจีนจะถดถอย ทำให้นักท่องเที่ยวจีนชะลอการท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน เมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอยจากสงครามการค้า จะทำให้เศรษฐกิจยุโรปถดถอยตาม และนักท่องเที่ยวชะลอเที่ยว ดังนั้นเป้าหมายนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนที่จะมาเที่ยวไทย จะอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน
ทั้งนี้ สื่งที่ที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเร่งดำเนินการคือ เร่งรัดโครงการลงทุน, เร่งเดินหน้านโยบายตามที่หาเสียงเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ และกระตุ้นเศรษฐกิจ, เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ, ส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวไทยมากขึ้น เพื่อลดปัญหาเงินตราไหลออกนอกประเทศ เร่งรัดการส่งออก เป็นต้น ส่วนคนไทยต้องช่วยกันจับจ่ายใช้สอยเหมือนเดิม และเที่ยวไทยให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเหมือนเดิม
ด้าน น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า การเตรียมขึ้นภาษีสินค้าครั้งนี้ เป็นกลุ่มสินค้าเดิม แม้สหรัฐฯจะขึ้นภาษีเป็น 25% ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการค้าไทยกับจีนและกับสหรัฐฯ ในภาพรวมมากนัก แต่อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงไปอีก และจะส่งผลกระทบทางอ้อมกับไทย ซึ่งพึ่งพาการส่งออก
"สินค้าที่เข้าข่ายถูกขึ้นภาษีครั้งนี้ เป็นรายการสินค้าเดียวกับที่สหรัฐฯ เคยขึ้นภาษีจีนแล้วที่ 10% เมื่อ 24 ก.ย.61 ครอบคลุมสินค้าเกษตร ประมง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเทคโนโลยีรวม 5,745 รายการ มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 40% ของมูลค่าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน" รมช.พาณิชย์ กล่าว
ขณะเดียวกัน แม้การขึ้นภาษีสินค้าจีนเมื่อเดือนก.ย.61 ทำให้การส่งสินค้าไทยที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของจีนไปยังจีน ลดลงมาก เช่น ยานพาหนะและชิ้นส่วน อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าบ้าน เครื่องจักรและส่วนประกอบ แต่ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้ากลุ่มอื่นๆ ไปจีนได้อีก เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเครื่องสำอาง อาหารปรุงแต่ง เนื้อสัตว์แช่แข็งและแปรรูป ผลไม้สดและแปรรูป ยางสังเคราะห์ และอัญมณี ซึ่งเป็นสินค้าที่ขยายตัวดีมากในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา จึงต้องเร่งขยายการเข้าไปทำตลาดในจีนเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม มองว่าการขึ้นภาษี 25% จะทำให้สินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เพื่อทดแทนจีนได้เพิ่มขึ้นอีก เช่น ยานพาหนะและส่วนประกอบ อาหารปรุงแต่งและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับ สินค้าเกษตร (ถั่วแห้ง แผ่นยางสดรมควัน ข้าวสี ยางแท่ง TSNR) ผักผลไม้สด แช่แข็ง แช่เย็น และแปรรูป (เช่น กล้วย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว ฝรั่ง มะม่วง มังคุด มะละกอ สับปะรด) อาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูป (เช่น ปลาทูน่าบิ๊กอาย ปลาทูน่าท้องแถบ ปลาทูน่าครีบเหลืองสดและแช่แข็ง เนื้อปลาแช่แข็ง) น้ำผึ้งธรรมชาติ อาหารสุนัข/แมว เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ที่ไม่ใช่น้ำผลไม้) เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก (เช่น กรดซิตริก) ตลอดจนยานยนต์และส่วนประกอบ (เช่น เครื่องยนต์สันดาปภายใน ยางรถยนต์)
"ทั้ง 2 ประเทศ เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย โดยไทยส่งออกไป 2 ประเทศคิดเป็นสัดส่วน 25% ของการส่งออกรวมของไทย เท่ากับอาเซียน 10 ประเทศ ไทยจึงต้องแสวงหาโอกาสจากสงครามการค้าและรักษาสัดส่วนสินค้าไทยในตลาดทั้ง 2 ซึ่งปัจจุบัน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีมาตรการรุกตลาดรองในจีนรองรับไว้แล้ว รวมถึงสหรัฐฯ อินเดีย และประเทศอื่นๆ ที่สินค้าไทยมีโอกาส สำหรับระยะยาว ไทยต้องเร่งเจรจาความตกลงต่างๆ หลังจากมีรัฐบาลใหม่ พร้อมทั้งเร่งขยายส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ผลไม้ ไปจีนให้มากขึ้น" รมช.พาณิชย์ ระบุ