น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้มีมติเห็นชอบกำหนดมาตรการให้โรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายส่ง ต้องแจ้งราคาซื้อขายให้แก่กรมการค้าภายใน เพื่อเผยแพร่ราคาจำหน่ายของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งผ่านเว็บไซต์กรม และให้โรงพยาบาลเอกชนจัดแสดง QR Code ไว้อย่างเปิดเผยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยสะดวก
ส่วนกรณีที่โรงพยาบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ต้องแจ้งให้กรมการค้าภายในทราบก่อนปรับราคาไม่น้อยกว่า 15 วัน
"การแจ้งราคาซื้อขายยา จะนำร่องรายการยาที่อยู่ในบัญชีของ UCEP (นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่) ที่มีรายการยาที่จำเป็น 3,892 รายการ จากบัญชียาและรหัสยามาตรฐานของไทย (TMT) ที่มีอยู่ 30,103 รายการ เพราะถือเป็นยาที่คนใช้มากและเป็นยาจำเป็น แต่ต่อไป จะดูรายการยาที่จำเป็นอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากบัญชี UCEP เพิ่มเติม" รมช.พาณิชย์ระบุ
สำหรับการประกาศราคาซื้อขายยาในเว็บไซต์ จะเป็นการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าราคาขายยาของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่ง จะได้เปรียบเทียบได้ และจะได้เข้าไปใช้บริการ แต่ถ้าพบว่าคิดราคาสูงไปกว่าที่แจ้งราคาไว้ ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนกรมการค้าภายใน เพื่อที่จะดำเนินการตามกฎหมายได้
นอกจากนี้ กกร. ยังได้มีมติให้โรงพยาบาลเอกชนต้องจัดทำใบสั่งยาตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและใบแจ้งราคายา โดยจะต้องมีการระบุชื่อยาทั้งชื่อทางการค้า และชื่อทางวิทยาศาสตร์ พร้อมระบุราคายาแต่ละชนิดด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถนำไปสั่งยาไปซื้อยาได้นอกโรงพยาบาลได้
ส่วนการรักษาพยาบาลผู้ป่วย กรณีที่มีการจ่ายยาหรือเวชภัณฑ์ หรือให้การรักษาพยาบาลเกินความจำเป็นนั้น น.ส.ชุติมา ระบุว่า กกร. มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อทำหน้าที่พิจารณาความเหมาะสมในการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วย ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว จะทำหน้าที่ประสานและแจ้งความเห็นไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการยาและเวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล ไปพิจารณาดูรายละเอียดของราคาค่าเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยา โดยปัจจุบันมีมีข้อมูลเวชภัณฑ์ประมาณ 868 รายการ และบริการทางการแพทย์ 5,286 รายการ
"มาตรการที่ออกมานี้ เป็นการปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยยังไม่ได้ควบคุมราคาแต่อย่างใด" รมช.พาณิชย์กล่าว
ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมการค้าภายใน ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กกร. เตรียมจะยกร่างประกาศ และนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ คาดว่าในสัปดาห์หน้าน่าจะแล้วเสร็จ และเมื่อประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามกฎหมาย คือ ไม่แจ้งราคาซื้อขาย มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีไม่ปฏิบัติตามระเบียบในเรื่องใบสั่งยา มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ในการดูแลเรื่องยา แม้จะกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนแจ้งข้อมูลการซื้อขาย แต่ถ้าผู้บริโภคเห็นว่าโรงพยาบาลคิดราคายาเกินจริง หรือสูงกว่าราคาที่แจ้งไว้ สามารถร้องเรียนเข้ามาที่กรมฯ ได้ โดยโรงพยาบาลจะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยในเบื้องต้น กรมฯ จะเชิญโรงพยาบาลเอกชนประมาณ 70 ราย หรือประมาณ 20% จาก 353 ราย มาหารือ หลังจากมีการตรวจสอบโครงสร้างต้นทุนแล้ว พบว่าคิดค่ายาสูงเกินจริง