รมว.คมนาคม เตรียมเสนอครม.เห็นชอบโครงการรถไฟไทย-จีน สัญญา 2.3 ภายใน พ.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 10, 2019 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม คาดว่า ภายในเดือนพ.ค.นี้ กระทรวงคมนาคมจะทยอยนำโครงการที่มีความพร้อมในการลงทุนก่อสร้าง เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาทิ โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในร่างสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) ซึ่งการเจรจาเรื่องกรอบวงเงินยุติแล้วที่ 5.06 หมื่นล้านบาท เหลือเงื่อนไขในสัญญา ประเด็นสุดท้ายที่จะต้องเจรจากับจีน โดยเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา และคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนพ.ค.แน่นอน ซึ่งเมื่อครม.อนุมัติแล้วจะกำหนดการลงนามในสัญญากับจีนต่อไป

รวมทั้ง โครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม (ทางคู่สายใหม่) ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 67,965 ล้านบาท, โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) วงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ของกรมทางหลวง

รมว.คมนาคม ได้กล่าวภายหลังเป็นประธานในงานสัมมนา เพื่อรับฟังความเห็นและประชาสัมพันธ์ โครงการศึกษาจัดทำ "แผนแม่บทการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งสำหรับคนทุกคน" ครั้งที่ 2 โดยระบุว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งสำหรับคนทุกคน และได้ทำโครงการปรับปรุงเป็นโครงการต้นแบบในพื้นนำร่อง และจัดสรรงบประมาณเพื่อทยอยปรับปรุงให้เกิดเป็นรูปธรรม

ส่วนโครงการใหม่ เช่น รถไฟทางคู่ ตัวสถานีจะมีการออกแบบให้เสมอเท่ากับตัวรถ โครงการรถไฟความเร็วสูง จะมีการสถานีแบบใหม่ เป็นต้น

"สนามบินที่ยังไม่มีสะพานเทียบเครื่องบิน หรือมีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้มีเครื่องบินส่วนหนึ่งต้องจอดที่หลุมจอดระยะไกล กรมท่าอากาศยานได้เร่งจัดงบประมาณ เพื่อจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้บริการ ส่วนท่าเรือทั้งท่าขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก กรมท่าเจ้าท่ามีแผนการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงการปรับปรุงป้ายรถเมล์ สะพานลอยคนข้าม เป็นต้น" รมว.คมนาคมระบุ

การจัดสัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอร่างแผนแม่บทการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งสำหรับคนทุกคน และรับทราบข้อเสนอแนะการปรับปรุงร่างแผนแม่บทดังกล่าว ให้มีความสมบูรณ์และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับบริการให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีเป้าหมายให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบความเป็นมาของโครงการ ความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ และร่างแผนแม่บทการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งสำหรับคนทุกคน และเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับร่างแผนแม่บทฯ นำไปสู่การปรับปรุงเพิ่มเติมแผนแม่บทฯ ให้มีความเหมาะสมและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ (ร่าง) แผนแม่บทสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งสำหรับคนทุกคน มีวิสัยทัศน์สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) โดยมีเป้าประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รองรับการขยายตัวและการเปลี่ยนแปลงของสังคม และขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

สำหรับร่างแผนแม่บทสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งสำหรับคนทุกคน จัดทำขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ "พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเสมอภาค (Inclusive Transport)" โดยยุทธศาสตร์ของแผนแม่บท 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนานโยบายและกฎหมายด้านคมนาคมขนส่งสำหรับคนทุกคน ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการบริการด้านคมนาคมขนส่งสำหรับคนทุกคน ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาบุคลากรและองค์กรด้านคมนาคมขนส่งสำหรับคนทุกคน และยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนา ส่งเสริม และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งสำหรับคนทุกคน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ