สนข.ขานรับแผนต่อยอดรถไฟฟ้า 9 เส้นทางกระจายจุดชุมชนเมืองออกจากกทม.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 4, 2008 10:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เผยแนวคิดรัฐบาลใหม่ที่จะลงทุนโครงการรถไฟฟ้าอีก 9 เส้นทาง โดยมีแนวเส้นทางมุ่งออกไปทั้ง 8 ทิศ ซึ่งใช้เงินลงทุน 5 แสนล้านบาท เพื่อการต่อยอดแผนงานเดิมออกไปยังจุดชุมชนนอกเมืองเพื่อลดความแออัดของปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ 
"น่าจะเป็นแนวคิดที่จะสร้างเมืองบริวารใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาจราจรของกรุงเทพฯ" นายไมตรี ศรีนราวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวทางรายการวิทยุเช้านี้
เมื่อวานนี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า รัฐบาลจะเร่งรัดการลงทุนโครงการดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย
1.ช่วงบางใหญ่-ไทรน้อย-ดาวคะนอง(ปัจจุบันเตรียมประมูลช่วงบางซื่อ-บางใหญ่), 2.ช่วงสำโรง-เมืองโบราณ(เชื่อมต่อ BTS สายสีเขียวจากช่วงอ่อนนุช-สำโรง)
3.ช่วงสะพานใหม่-ลำลูกกา-รังสิต(เชื่อมต่อ BTS สายสีเขียวจากช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ซึ่ง สนข.อยู่ระหว่างการออกแบบ), 4.ช่วงตากสิน-มหาชัย, 5.ช่วงบางซื่อ-คลองเตย ลู้ป 1, 6.ช่วงมีนบุรี-ศาลายา, 7.ช่วงตากสิน-พุทธมณฑล สาย 4, 8.ช่วงวัดใหญ่-ป้อมพระจุลฯ 9.ช่วงบางกะปิ ลู้ป 2
นายไมตรี กล่าวว่า เส้นทางส่วนใหญ่เป็นการต่อยอดจากเส้นทางเดิมที่อยู่ในแผนแม่บทระบบรางที่เป็นแนวรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ได้แก่ สายสีแดง สีน้ำเงิน สีม่วง สีเขียว สีส้ม สีชมพู และ สีน้ำตาล และเพิ่มเติมเส้นทางใหม่บางเส้นทาง รวมทั้ง รถไฟฟ้าวงแหวนที่เชื่อมโยงจุดต่าง ๆ ในชนบทเข้าด้วยกัน
ส่วนโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ที่รัฐบาลชุดใหม่มีนโยบายจะผลักดันนั้น ตามแผนแม่บทระบบโลจิสติกส์ได้กำหนดแนวทางมุ่งพัฒนาการขนส่งระบบราง โดยส่วนแรกจะเป็นการลงทุนเพื่อเสริมความแข็งแรงของรางรถไฟที่ใช้มานานและมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ซึ่งต้องใช้เงินราว 3 หมื่นล้านบาท และส่วนที่สองเป็นโครงการรถไฟรางคู่ระยะทาง 800 กิโลเมตร และยกระดับจุดตัดเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการขนส่งสินค้าจากทั่วประเทศไปยังท่าเรือ
นายไมตรี กล่าวว่า การพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางคู่ต้องระบุให้ชัดเจนว่ามีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร หากเป็นการปรับระบบเพื่อให้บรรทุกสินค้าให้มากขึ้นก็เป็นเหตุผลที่เหมาะสม แต่หากตอ้งการเพิ่มความเร็วของการเดินทางด้วยรถไฟ อาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนระบบรางคู่ทั่วประเทศที่จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพียงแค่ปรับปรุงระบบรางเดิมให้แข็งแรงขึ้นก็จะสามารถเพิ่มความเร็วได้ถึง 200 กม./ชม.แล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ