ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช แห่งสหรัฐ เรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านร่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยระบุว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนม.ค.ที่ปรับตัวลงครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี ถือเป็น"สัญญาณในด้านลบ"ที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังชะลอตัวลงอย่างมาก
"อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ประสิทธิภาพด้านการผลิตอยู่ในระดับสูง แต่ขณะนี้มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังอ่อนตัวลง และเราจำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้" บุชกล่าวภายหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนม.ค.ปรับตัวลง 17,000 อัตรา
ตัวเลขจ้างงานครั้งล่าสุดปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี และเป็นสัญญาณครั้งใหญ่ที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ประธานาธิบดีบุชยังมีมุมมองในด้านบวกว่า หากไม่รวมข้อมูลในเดือนม.ค. ตัวเลขจ้างงานของสหรัฐขยายตัวขึ้นติดต่อกันยาวนานถึง 52 เดือน ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวแข็งแกร่งสุดเป็นประวัติการณ์
"ปัญหาในตอนนี้ก็คือตัวเลขจ้างงานลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 52 เดือน ซึ่งคำถามที่ตามมาก็คือว่าเราจะทำให้อย่างไรต่อไป ผมคิดว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ และรัฐบาลต้องออกมาตรการเมื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้" บุชกล่าวสุนทรพจน์ที่บริษัท Hallmark Cards Inc.,
"ผมรู้สึกประทับใจที่คณะทำงานกำลังเร่งทำงานเรื่องนี้อย่างรวดเร็วและเต็มความสามารถ แต่ผมต้องเร่งผลักดันให้ร่างมาตรการฉบับนี้ผ่านการอนุมัติโดยด่วน เพื่อให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้" บุชกล่าว
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนม.ค.ลดลง 17,000 ตำแหน่ง นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี และตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนในตลาดคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่าจะเพิ่มขึ้น 50,000 ตำแหน่ง และสวนทางกับตัวเลขจ้างงานเดือนธ.ค.ที่เพิ่มขึ้น 82,000 ตำแหน่ง
การปรับลดคนงานเกิดขึ้นทั่วทุกภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผู้ผลิต บริษัทก่อสร้าง รวมไปถึงบริการทางธุรกิจและสาขาวิชาชีพต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความเสียหายที่เกิดจากวิกฤติสินเชื่อและการเคหะ ขณะที่ภาครัฐบาลก็ลดจำนวนพนักงานเช่นกัน
ตัวเลขจ้างงานและอัตราว่างงานที่มีการเปิดเผยล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการในสหรัฐเพิ่มความระมัดระวัง ขณะที่พวกเขาพยายามรับมือกับผลพวงเลวร้ายที่เกิดจากปัญหาสินเชื่อและบ้าน รวมถึงความกังวลที่ทวีขึ้นเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำ สำนักข่าวเอพีรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--