นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในวงการมันสำปะหลัง ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมประชุมหารือและติดตามสถานการณ์การผลิตและการค้ามันสำปะหลัง เพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ประกอบการวางแผนบริหารจัดการผลผลิตมันสำปะหลังปี 2562/63 รวมถึงการหารือแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทยในระยะยาว เช่น การใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น โดยจะประมวลผลเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) เพื่อพิจารณาออกมาตรการบริหารจัดการมันสำปะหลังปี 2562/63 ต่อไป
ส่วนสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้ามันสำปะหลัง ปีการผลิต 2561/62 ผลผลิตได้ออกสู่ตลาดไปแล้วกว่า 28.46 ล้านตัน หรือคิดเป็น 90.2% คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะทยอยออกสู่ตลาดจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2562 อีกราว 3.09 ล้านตัน หรือ 9.8% ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ และรักษาระดับราคามันสำปะหลังสดให้อยู่ในระดับสูงได้ต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่คุ้มต้นทุนและมีกำไร
สำหรับปัญหาการระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง (Cassava Mosaic Disease หรือ CMD) ไทยสามารถบริหารจัดการและป้องกันการแพร่ระบาดได้ ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถผลิตแปรรูป และส่งออกสินค้ามันสำปะหลังได้อย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ซื้อ ผู้นำเข้า มีความเชื่อมั่น ซึ่งจะส่งผลดีทำให้ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสู่ตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น ไม่เพียงแค่นั้น สินค้ามันสำปะหลังนวัตกรรม ที่มีการนำมันสำปะหลังมาผลิต ทั้งอาหารและไม่ใช่อาหาร ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
"แม้ในช่วงนี้จะเป็นช่วงท้ายฤดูกาลเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง กรมฯ ขอแนะไปยังเกษตรกรว่าไม่ควรรีบขุดหัวมันอ่อนออกมาขาย เนื่องจากมีเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งต่ำ เพราะจะทำให้ขายได้ราคาไม่สูงมากนัก แต่ถ้ารอให้มีเชื้อแป้งสมบูรณ์ ก็จะขายได้ในราคาที่ดีขึ้น" นายอดุลย์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ขอให้เกษตรกรเตรียมท่อนพันธุ์มันสำปะหลังให้เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป เนื่องจากคาดว่า ในระยะถัดไปภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเกิดภาวะการขาดแคลนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่ปลอดโรค CMD ส่งผลให้มีความต้องการท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคจากประเทศไทยสูงขึ้น จึงขอให้เกษตรกรชะลอการจำหน่ายท่อนพันธุ์ให้ความสำคัญกับการเตรียมท่อนพันธุ์ที่ดีให้เพียงพอกับความต้องการ โดยให้ความสำคัญกับการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตหัวมันสำปะหลังมากกว่าการจำหน่ายในรูปท่อนพันธุ์ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจน้อยกว่า