(เพิ่มเติม1) บอร์ด EEC รับทราบผลคัดเลือกลุ่มซีพีร่วมมือ รฟท.ทำรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ไฟเขียวชง ครม. 28 พ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 13, 2019 15:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ รับทราบความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

โดยในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยเป็นรูปแบบการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) ที่ภาครัฐลงทุนน้อยที่สุด เพื่อภาครัฐจะได้ประหยัดงบประมาณ และสามารถนำงบประมาณไปใช้พัฒนาคนและบริการขั้นพื้นฐานของผู้มีรายได้น้อย และประชาชนในด้านอื่น ๆ

ทั้งนี้ จากการพิจารณาตามขั้นตอนต่าง ๆ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ได้รับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ เพราะเป็นผู้ยื่นข้อเสนอด้านการลงทุน ผลตอบแทนที่ผ่านการพิจารณา และบรรลุข้อตกลงในการเจรจา

ที่ประชุม กพอ. ได้รับทราบผลการคัดเลือก การเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ กับเอกชนที่ได้คัดเลือกดังกล่าว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ กพอ. กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท ที่ประชุม กพอ.วันนี้ได้รับทราบผลการคัดเลือก เจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และมีมติให้เสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้าร่วมลงทุนในโครงการกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ในวันที่ 28 พ.ค. และคาดว่าจะลงนามในวันที่ 15 มิ.ย.นี้

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า การจะลงนามกันได้ก็ต่อเมื่อขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จสิ้นเสียก่อน ขณะที่การส่งมอบพื้นที่ รฟท.คาดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะพื้นที่สัดส่วนกว่า 90% เป็นพื้นที่ของ รฟท. โดยพื้นที่แรกที่ส่งมอบเป็นที่ดินบริเวณมักกะสัน ประมาณ 100 ไร่ นอกจากนี้จะจัดตั้งหน่วยธุรกิจดูแลโครงการนี้ที่มีระยะเวลา 50 ปี

พร้อมกันนั้น บอร์ด EEC ยังได้รับทราบการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมและส่งเสริมการลงทุน ใน EEC ซึ่งพบว่าขณะนี้มีความต้องการในอุตสาหกรรมดิจิทัล กว่า 100,000 คน โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สานต่อโครงการพร้อมจัดทำการพัฒนาและผลิตกำลังคนดิจิทัล สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการ

โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ สามารถพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ และปริมาณตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านดิจิทัลของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ภายในปี 2566 โดยเป็นบุคลากรที่ได้รับการพัฒนากว่า 180,000 คน ประกอบด้วย นักศึกษาจบใหม่ด้านดิจิทัลที่เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 60,000 คน และนักศึกษาสาขาอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนหรือเรียนเพิ่มเติม ในสาขาวิชาด้านดิจิทัล จำนวน 120,000 คน

สำหรับแนวทางการผลักดันให้ได้บุคลากรตามเป้าหมายกำลังคนด้านดิจิทัล ได้แก่

1. กลุ่มนักศึกษาในสาขาวิชาด้านดิจิทัล สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายในการฝึกงาน เพื่อให้มีประสบการณ์ตรงกับภาคอุตสาหกรรม

2. กลุ่มนักศึกษาในสาขาอื่นที่ต้องการ Re-skill สนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าอบรมหลักสูตรระยะสั้น และ/หรือ ค่าสอบประกาศนียบัตรรับรองความรู้ในระดับพื้นฐาน และระดับกลาง ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล

3. กลุ่มบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม และด้านอื่นๆ ที่ต้องการย้ายสายงาน สนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าอบรมหลักสูตรระยะสั้น และ/หรือค่าสอบประกาศนียบัตรรับรองความรู้ในระดับพื้นฐาน และระดับกลาง ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ใน EEC ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ใน EEC (Thailand Genome Sequencing Center) จะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความรู้ทางการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) ที่จำเป็นให้ประเทศที่มีความต้องการบริการการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) ให้สามารถนำไปสู่การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ในอนาคตอันใกล้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงในระบบประกันสุขภาพ โดยจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศใน 3 ด้านหลัก ได้แก่

(1) ด้านการแพทย์และสาธารณสุขจะทำให้ดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนดีขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการป่วย ป้องกันการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร และลดค่าใช้จ่ายของการรักษาที่ไม่แม่นยำ (2) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะทำให้มีเทคโนโลยีระดับสูงไว้บริการใน Medical Hub (3) ด้านเศรษฐกิจ และสังคมเป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรภายในประเทศ

ทั้งนี้ บอร์ด EEC ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ใน พื้นที่ EEC (Thailand Genome Sequencing Center) และให้ สกพอ. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ