"ถึงแม้จะยาก มีความเสี่ยงสูง แต่เครือซีพีต้องใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ และดึงคนเก่งๆจากทั่วโลกมาช่วยกันทำให้สำเร็จ เพราะโครงการนี้ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานแรกของภูมิภาคอาเซียน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง หรือ HUB ของอาเซียน และสามารถส่งเสริมประเทศเพื่อนบ้านในแถบ CLMV ให้เติบโตไปพร้อม ๆ กันแบบยั่งยืนได้อีกด้วย"นายศุภชัยกล่าว
นอกจากนี้ต้องขอขอบคุณทีมงานที่ทุ่มเทเตรียมการเข้าประมูลอย่างหนัก และความสำเร็จในการดึงพันธมิตรจากทั่วโลก มาลงทุนในประเทศไทย เพื่อเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างประเทศในพื้นที่อีอีซี ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน ยุโรป และอีกหลายประเทศ
ในการนี้ซีอีโอ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ชี้ให้เห็นว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น เป็นหัวใจสำคัญที่ก่อให้เกิดการพัฒนาเมือง ซึ่งจะกระจายความเจริญทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สู่ทุกชุมชน และคนไทยทั้งประเทศจะได้ประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ และการนำความรู้มาพัฒนาคน สร้างงานในยุค 4.0 ซึ่งการถ่ายทอดองค์ความรู้จะเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการ นอกจากนี้การเข้าถึงบริการของผู้เปราะบาง เช่น ผู้พิการ ต้องคิดถึงเป็นอันดับแรก รวมถึงการออกแบบที่คำนึงถึงอนาคตหากเกิดชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อความเจริญขยายตัวออกจากกรุงเทพ ว่าจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร เพื่อดำเนินการด้านสังคมไปควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ดังนั้นประเด็นสำคัญของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ การพัฒนา ซึ่งมีความหมายมากกว่าการลงทุน เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน
นอกจากนี้ในช่วงท้ายการบรรยาย ประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี ได้กล่าวถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่ต้องดำเนินคู่กันไป ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานทางเลือก การจัดการขยะพลาสติก และปิดท้ายด้วยการตั้งเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อการชดเชยคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ลดลงทุกปีและเข้าสู่ศูนย์(zero net carbon emissions)ในปี 2030