ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผลักดันให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ พร้อมเร่งฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภคในประเทศเพื่อทดแทนการส่งออกที่คาดว่าจะชะลอตัวในปีนี้ และดูแลค่าเงินบาทให้เกิดเสถียรภาพ โดยสนับสนุนให้มีการใช้งบประมาณขาดดุลเพิ่มอีก 8 หมื่นล้านบาทช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
"ที่ประชุม กกร.มีความเห็นร่วมกันว่า เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลที่ออกมาในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ว่าจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากนโยบายที่ออกมาเป็นประโยชน์ต่อผู้มีรายได้น้อย ไม่สร้างภาระเพิ่ม และไม่เสียวินัยทางการเงินก็นับว่าเป็นนโยบายที่ดี" นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าว
ในส่วนของสภาหอการค้าฯ เตรียมเสนอให้รัฐบาลใหม่เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป กระตุ้นการลงทุนทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ทั้งจากโครงการเมกะโปรเจ็คต์ และโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการอยู่แล้ว การใช้งบประมาณให้เป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงเร่งสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพื่อให้ฟื้นตัวโดยเร็วทดแทนการส่งออกที่คาดว่าในปีนี้จะชะลอตัวจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และปัญหาซับไพร์มที่มีความยืดเยื้อ
นอกจากนี้ รัฐบาลควรเพิ่มบประมาณ 8 หมื่นล้านบาทเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งมูลค่าดังกล่าวจะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5-1% โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อย ด้วยการปรับลดภาษีเงินได้สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท และอีก 4 หมื่นล้านบาทเพื่อนำไปกระตุ้นในระดับรากหญ้า ช่วยในการจ้างงานด้วยการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเพื่อเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า การพัฒนาระบบชลประทาน เป็นต้น
ส่วนมาตรการกันสำรอง 30 % นั้น นายประมนต์ กล่าวว่า เอกชนต้องการให้เงินบาทมีเสถียรภาพ หากแข็งค่าก็ควรอยู่ในระดับเดียวกับภูมิภาค หากมีความจำเป็นต้องยกเลิกก็ควรจะต้องเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ควรเป็นช่วงครึ่งปีหลัง และน่าจะมีมาตรการอื่นเข้ามารองรับเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวน ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ
ขณะที่ นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในฐานะประธาน กกร.กล่าวว่า ได้มอบหมายให้แต่ละภาคส่วนกลับไปรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลใหม่
ส.อ.ท.เตรียมเสนอให้รัฐบาลดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ เนื่องจากเป็นห่วงผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยต้องการให้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นอยู่ในระดับเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านและคู่แข่งเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้
นอกจากนี้ยังต้องการให้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) ยังคงมีอยู่ต่อไปทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อจะได้มีการเจรจาหารือกันเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย บอกว่า ต้องการให้รัฐบาลช่วยลดขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจการเงิน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น
--อินโฟเควสท์ โดย อตฦ/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--