ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 62 โต 3.5% จากเดิมที่คาดโตได้ 3.8% ส่วนส่งออกคาดว่าปีนี้เหลือโต 0.5% จากก่อนหน้าคาดโตได้ 3.9% โดยมีปัจจัยลบจากสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวน รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่ การมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ, การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น, การท่องเที่ยวฟื้นตัว และธนาคารกลางทั่วโลกชะลอปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 62 จะเติบโตได้ 3.5% หรืออยู่ในกรอบ 3.3-3.7% ภายใต้สถานการณ์ Base Case โดยมีความเป็นไปได้ถึง 60% ภายใต้สมมติฐาน (Base Case) ที่ว่าสหรัฐฯ และจีนจะไม่ปรับเพิ่มภาษีขึ้นไปมากกว่าระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการเมืองไทยมีเสถียรภาพ ปริมาณการค้าโลก เติบโต 3.0% ขณะที่เศรษฐกิจโลก เติบโต 2.8% ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ในระดับ 60-80 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.00-33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยนโยบายคงที่อยู่ในระดับ 1.75%
นอกจากนี้ ภายใต้ Base Case นี้คาดการณ์ว่าการลงทุนภาครัฐยังเติบโตได้ 5.4% การลงทุนภาคเอกชน เติบโตได้ 3.4% การบริโภคภาครัฐ เติบโต 2.4% การบริโภคภาคเอกชน เติบโต 4.1% การส่งออก เติบโต 0.5% การนำเข้า ลดลง 1.4% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 0.8%
อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาส 25% ที่เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในกรณีแย่สุด (Worse Case) โดยเติบโตได้ 3.3% หากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งการเมืองในประเทศขาดเสถียรภาพ จนทำให้นักธุรกิจและนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น แต่ทั้งนี้ มองว่าก็ยังมีโอกาส 15% ที่เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในกรณีที่ดีสุด (Best Case) โดยเติบโตได้ 3.7% หากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ผ่อนคลายลง ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศลดลงจนทำให้นักธุรกิจและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะเติบโตได้ 3.2% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีสัญญาณบ่งชี้ในเชิงลบในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 โดยจะเห็นได้จากการบริโภคยังมีความเปราะบาง เพราะแม้จะมีการจับจ่ายใช้สอย แต่ก็เป็นการจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวัง กำลังซื้อภาคต่างจังหวัดยังไม่เข้มแข็ง และเมื่อเจอสถานการณ์สงครามการค้าเข้ามารวมด้วย จึงทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการจับจ่ายใช้สอย และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมากขึ้น
นอกจากนี้ ในด้านการส่งออกของไทยเอง พบว่า ในไตรมาสแรกการส่งออกติดลบ 1.64% โครงสร้างการส่งออกยังมีความเปราะบางจากผลพวงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่า โดยในปีนี้คาดว่าการส่งออกจะเติบโตได้เพียง 0.5% เท่านั้น จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.9% ซึ่งจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกยังเติบโตได้ไม่โดดเด่น แต่ในภาคของการท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศยังพอจะไปได้ดี จึงช่วยเป็นตัวค้ำยันให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกนี้ไม่ทรุดตัวลง
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ประมาณการการส่งออกของไทยปีนี้ที่เติบโต 0.5% นั้น มูลค่าการส่งออกต่อเดือนที่เหลือต้องเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 21,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักท่ามกลางสถานการณ์ที่หลายประเทศรวมทั้งไทยต่างได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน
"ปีที่แล้ว มูลค่าการส่งออกไทยเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนิดๆ ดังนั้นการส่งออกในช่วงแต่ละเดือนที่เหลือของปีนี้ ที่จะต้องทำได้ 21,000 ล้านดอลลาร์ภายใต้สงครามการค้าที่ยังลากยาว จึงมีความเสี่ยง และหากมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น การส่งออกไทยทำได้ไม่ถึง 19,000 ล้านดอลลาร์ในแต่ละเดือนที่เหลือ อาจทำให้ทั้งปีนี้การส่งออกติดลบได้มากกว่า 5%" นายธนวรรธน์ระบุ
ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่มีผลสำคัญต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ นอกเหนือจากสงครามการค้าแล้ว นั่นคือสถานการณ์เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ซึ่งจะทำให้การส่งออกไทยได้รับผลกระทบมากขึ้น ดังนั้น จึงเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บริหารเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญ โดยหากเงินบาททรงตัวอยู่ในระดับ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในขณะนี้
นอกจากนี้ ต้องการให้รัฐบาลกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เพราะจะเป็นตัวสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่กระทบต่อการท่องเที่ยวของคนชั้นกลาง การส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองต่างๆ การขยาย VISA on Arrival (VOA) และการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยให้เติบโต โดยมองว่าปีนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยยังมีโอกาสแตะระดับ 40 ล้านคนได้
นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า การจับจ่ายใช้สอยและการสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในประเทศยังเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ ซึ่งหากสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนได้ผ่านนโยบายและทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีความรู้ความสามารถชัดเจน ก็จะเป็นการช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศแล้ว การสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนผ่านนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่างๆ น่าจะเริ่มเห็นได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ รวมถึงการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล และงบลงทุนที่ยังค้างท่อ ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มขับเคลื่อนได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 ถึงต้นไตรมาส 4 โดยประเมินว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.8%
พร้อมกันนี้ ยังคาดหวังว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ที่มีเสียงไม่ต่ำกว่า 260 ที่นั่ง เพื่อช่วยในการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลและเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ เนื่องจากหากการเมืองไร้เสถียรภาพ อาจจะมีการชุมนุมประท้วงนอกสภา ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการท่องเที่ยวของไทยที่เป็นปัจจัยหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้