SCB EIC คาดส่งออกไทยปีนี้มีโอกาสหดตัวต่ำกว่า 2.7% หลังสงครามการค้ายืดเยื้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 16, 2019 18:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า หากสหรัฐฯ และจีนยังไม่มีความคืบหน้าในข้อตกลงในระยะเวลาอันใกล้และเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปีฟื้นตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ จะส่งผลให้ตัวเลขมูลค่าการเติบโตของการส่งออกไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐอาจมีความเสี่ยงต่ำกว่าที่ SCB EIC ประเมินไว้ที่ 2.7% ในปี 2562 โดยเฉพาะหากข้อตกลงทางการค้าสหรัฐฯ และจีนยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้ในการยุติข้อพิพาทในอนาคตและสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนทั้งหมด จึงนับเป็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยที่ต้องพึ่งพาตลาดจีนที่ยังคงต้องเฝ้าติดตามความคืบหน้าการเจรจาสงครามการค้าอย่างใกล้ชิด

อนึ่ง เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2019 รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจากเดิมที่อัตรา 10% เพิ่มขึ้นเป็น 25% สืบเนื่องมาจากการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร และเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม จีนประกาศตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ มูลค่าราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในอัตรา 5-25% เช่นกัน

SCB EIC ระบุว่า สงครามการค้าที่กลับมาปะทุส่งผลลบต่อภาคการส่งออกไทยทางตรงผ่านห่วงโซ่อุปทานการค้าไทยจีนและทางอ้อมผ่านภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัวหากเศรษฐกิจจีนและคู่ค้าชะลอลงมากกว่าที่คาด ซึ่งภาคการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าผ่าน 2 ช่องทางนี้ ได้แก่ 1) ผลกระทบโดยตรงจากการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานกับจีนในการผลิตสินค้าจีนเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยหมวดสินค้าที่มีห่วงโซ่อุปทานกับจีนสูง ได้แก่ คอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และเคมีภัณฑ์ ซึ่งตั้งแต่เริ่มต้นมาตรการกีดกันทางการค้าในเดือนสิงหาคม 2018 จนถึงเดือนมีนาคม 2019 การส่งออกไทยไปจีนในหมวดดังกล่าวหดตัว 23.6% 30.6% 36.1% และ 75.9% ตามลำดับ และหากสงครามการค้ายืดเยื้อต่อเนื่องก็อาจจะไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากหมวดสินค้าดังกล่าว และหากพิจารณารายการสินค้าจีนมูลค่ากว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 25% กลุ่มสินค้าที่ไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบสูงอยู่ในสินค้าขั้นต้นและขั้นกลาง ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ยางพารา และไม้ ซึ่งเบื้องต้นจากการประเมินมูลค่าการส่งออกในปี 2018 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานกับจีนใน 4 หมวดสินค้าหลักดังกล่าวมีสัดส่วนราว 2.1% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าผลกระทบราว 633.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 2) ผลกระทบผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและคู่ค้าจากการชะลอของการบริโภคภายในของประเทศคู่ค้า เป็นผลให้การชะลอตัวของการส่งออกไทยมีทิศทางกระจายตัวมากขึ้น ทั้งในมิติของรายสินค้าและรายตลาดส่งออก เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย EU15 ASEAN5 ฯลฯ

ขณะที่จับตาสินค้าราคาถูกจากจีนที่อาจไหลทะลักเข้าไทย เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้าซึ่งส่งผลต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก เนื่องจากตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าเหล็กกับเกือบทุกประเทศในอัตรา 25% ตามมาตรา 232 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ (Trade expansion act of 1962) เพื่อป้องกันและส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กในสหรัฐฯ ซึ่งต่อมาสหรัฐฯ ได้เก็บภาษีนำเข้าเหล็กเพิ่มเติมอีกในอัตรา 10% ช่วงเดือนกันยายนปี 2561 และเพิ่มขึ้นเป็น 25% ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งในรายการสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้สินค้าเหล็กของจีนเสียเปรียบการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ และส่งผลให้การส่งออกเหล็กจีนไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลง แม้ว่าทางการจีนจะมีแผนเพิ่มการใช้เหล็กจากการก่อสร้างในการขยายโครงสร้างพื้นฐานภายในและมีแนวโน้มทยอยลดกำลังการผลิตเหล็กลงตามแผนการลดกำลังการผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็กและถ่านหิน แต่ในระยะสั้นยังคงคาดการณ์ว่ามีผลผลิตส่วนเกินที่จะทำให้ผู้ผลิตเหล็กจีนเปลี่ยนเป้าหมายการส่งออกไปสู่ประเทศที่ไม่มีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่สินค้าเหล็กจากจีนมีแนวโน้มไหลเข้ามา โดยผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีโอกาสถูกทุ่มตลาดเนื่องจากไทยยังไม่มีมาตรการป้องกัน ได้แก่ เหล็กท่อนและเส้น (HS7215), เหล็กลวด (HS7217), สเตนเลส (HS7301), ท่อสเตนเลส (HS7304) และสปริงเหล็ก (HS7320) เป็นต้น ส่งผลให้ราคาเหล็กภายในประเทศมีแนวโน้มลดลงซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเหล็กโดยเฉพาะผู้ส่งออกและผู้ผลิตบางรายที่ไม่สามารถปรับตัวแข่งกับสินค้านำเข้าเนื่องจากไม่สามารถปรับลดภาระต้นทุนแข่งกับเหล็กนำเข้าจีนในราคาถูกได้ จึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี ไทยมีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดในผลิตภัณฑ์เหล็กบางรายการ ได้แก่ ท่อเหล็ก (HS7306) ซึ่งคาดว่าจะช่วยป้องกันการทุ่มตลาดในสินค้าเหล็กดังกล่าวได้

SCB EIC ระบุว่า แม้สงครามการค้าจะส่งผลลบต่อการส่งออกไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ไทยอาจได้รับอานิสงส์จากการส่งออกทดแทนในตลาดจีนและสหรัฐฯ และได้ประโยชน์บางส่วนจากการนำเข้าสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า รวมถึงการย้ายฐานการผลิตบางส่วนของจีนมายังไทย สินค้าบางหมวดอาจได้รับประโยชน์เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องหาตลาดนำเข้าทดแทน ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรพิมพ์ ฮาร์ดดิสก์ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังสหรัฐฯ ได้มากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ ลดการนำเข้าจากจีนแต่ความต้องการบริโภคสินค้ายังมีอยู่ ขณะเดียวกันไทยก็อาจสามารถส่งออกสินค้าบางส่วนไปทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีนได้ ได้แก่ สินค้าเกษตร ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป อาหารปรุงแต่ง เนื้อไก่ เป็นต้น ซึ่งสินค้าที่ส่งออกทดแทนส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไทยครองสัดส่วนส่งออกในตลาดปลายทางที่ค่อนข้างสูงจึงมีศักยภาพในการส่งออกสูงเป็นทุนเดิม และเป็นโอกาสให้สินค้าเหล่านี้จะได้รับการพิจารณานำเข้าเพิ่มเติมจากทั้งสหรัฐฯ และจีนในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดีไทยยังคงต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่มีส่งออกสินค้าที่ใกล้เคียงกันด้วย เช่น เวียดนามและมาเลเซีย เป็นต้น ทำให้ผลบวกของสงครามการค้าในการส่งออกทดแทนมีจำกัด นอกจากนี้ด้านกลุ่มประเทศ ASEAN อาจได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแผนการลงทุนของจีน เนื่องจากบริษัทจีนมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนแผนการลงทุน โดยอาจขยายกำลังการผลิตไปในประเทศอื่นเพื่อเลี่ยงมาตรการทางภาษี ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่จีนอาจเข้ามาลงทุนเพิ่มเพื่อผลิตสินค้าที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เริ่มเห็นจำนวนเงินการลงทุนจากจีนที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นในปี 2561 โดยอุตสาหกรรมที่บริษัทจีนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดอยู่ในหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในหมวดสินค้าที่จีนได้รับผลกระทบสูงจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีผู้ผลิตจีนมีทางเลือกการย้ายฐานการผลิตไปยังหลายประเทศ ทำให้ไทยต้องแข่งขันเพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ซึ่งมีความได้เปรียบของข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามทำไว้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยุโรป (EVFTA) อีกทั้งเวียดนามมีระยะทางที่ใกล้จีนมากกว่า ค่าแรงขั้นต่ำถูกกว่า และเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำคัญหลายชนิด เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ทำให้ผลบวกจากการย้ายฐานการผลิตจึงค่อนข้างจำกัดในบางรายการสินค้าที่ไทยได้เปรียบในการผลิต เช่น อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ในระยะต่อไป ผลกระทบต่อภาคการส่งออกจะมีมากขึ้นหากการเจรจาสหรัฐฯ-จีนไม่ประสบผล ผู้ประกอบการไทยควรเร่งกระจายตลาดส่งออก ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าของไทยในปัจจุบันเพื่อขยายตลาด รวมถึงป้องกันความผันผวนของค่าเงิน หากสหรัฐฯ กับจีนยังไม่สามารถหาบทสรุปของข้อตกลงการค้า และสงครามการค้าขยายวงกว้างโดยครอบคลุมสินค้านำเข้าทั้งหมดของทั้งจีนและสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ตามการประมาณการของ IMF ผลกระทบของสงครามการค้าจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนในปี 2562 จะมีแนวโน้มชะลอลงราว 0.2% และ 1.16%

SCB EIC ระบุว่า หากสงครามการค้ายังมีแนวโน้มบานปลายอาจส่งผลให้ภาวะการเงินตึงตัวขึ้นเกินคาดจากการปรับฐานและการลดลงของราคาหลักทรัพย์ อย่างไรก็ดี เงินบาทไทยถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) สำหรับภูมิภาคเอเชียของนักลงทุนคล้ายกับเงินเยนญี่ปุ่น เนื่องจากฐานะทางการเงินไทยยังแข็งแกร่ง ทำให้เงินบาทตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคมถึง 14 พฤษภาคมแข็งค่าขึ้น 1.23% SCB EIC ยังคงประเมินค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะกลางจนถึงช่วงสิ้นปีจะอยู่ในช่วง 31-32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ยังคงสูงในปี 2562 ที่ราว 6% ต่อ GDP อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยที่ต่ำประมาณ 0.9% และเสถียรภาพเศรษฐกิจด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง แม้จะมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าเข้ามากระทบในบางช่วงก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ