ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: นลท.เมินข้อมูลยอดซื้อรง. ถ่วงดอลล์อ่อนเทียบยูโร

ข่าวต่างประเทศ Tuesday February 5, 2008 08:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและเงินปอนด์ แม้ข้อมูลยอดสั่งซื้อของโรงงานในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนธ.ค. 
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินยูโรแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.4823 ดอลลาร์ต่อยูโร จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.4803 ดอลลาร์ต่อยูโร ขณะที่ค่าเงินปอนด์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.9737 ดอลลาร์ต่อปอนด์ จากระดับ 1.9677 ดอลลาร์ต่อปอนด์
อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 106.75 เยนต่อดอลลาร์ จากระดับ 106.47 เยนต่อดอลลาร์
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดสั่งซื้อใหม่ของโรงงานในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนธ.ค.ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นมา และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยับขึ้นเพียง 2%
อย่างไรก็ตาม ยอดสั่งซื้อโดยรวมตลอดปี 2550 ของโรงงานในสหรัฐ ขยับขึ้นเพียง 1.4% ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราทีช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2545 ทำให้นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจใช้ข้อมูดังกล่าวเป็นเหตุผลในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก
นักลงทุนจับตาดูการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษ ซึ่งจะประชุมในวันเดียวกันคือวันพฤหัสบดีนี้ โดยขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของยุโรปยืนอยู่ที่ระดับ 4% และอังกฤษอยู่ที่ระดับ 5.5% ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐที่ระดับ 3%
นายเจมส์ ฮิวจ์ นักวิเคราะห์จากซีเอ็มซี มาร์เก็ตกล่าวว่า "ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กยังคงเคลื่อนตัวผันผวนก่อนที่ธนาคารกลางยุโรปจะตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ มีกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อาจทบทวนเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ย หลังจากค่าเงินเยนอ่อนตัวลง"
ดอลลาร์ยังคงได้รับแรงกดดันจากตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนม.ค.ลดลง 17,000 ตำแหน่ง ซึ่งลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี และตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 50,000 ตำแหน่ง และสวนทางกับตัวเลขจ้างงานเดือนธ.ค.ที่เพิ่มขึ้น 82,000 ตำแหน่ง
โดยเมื่อวานนี้ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช แห่งสหรัฐ เรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านร่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยระบุว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนม.ค.ที่ปรับตัวลงครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี ถือเป็น"สัญญาณในด้านลบ"ที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังชะลอตัวลงอย่างมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ