รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกของคณะทำงานสรรหา คัดเลือก และเจรจาผู้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ให้บมจ.เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล (JCK) เป็นผู้ได้รับสิทธิพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม และมอบหมายกรมธนารักษ์พิจารณาดำเนินการจัดให้เช่าที่ดินราชพัสดุตามกฎระเบียบและขั้นตอนของทางราชการต่อไป
รวมทั้งเห็นชอบให้กันพื้นที่แนวก่อสร้างทางรถไฟในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนมเพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-นครพนม เนื้อที่ประมาณ 28 ไร่
ทั้งนี้ พื้นที่ที่บริษัทฯ ได้รับสิทธิลงทุนมีประมาณ 1,335 ไร่ ใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาวแห่งที่ 3 และด่านนครพนม โดยจะพัฒนาเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมแบบผสม (Commercial Mix Use) ซึ่งมีการพัฒนาโรงแรม โรงพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ประชุม/แสดงสินค้านานาชาติ ศูนย์กีฬา/สันทนาการ (sports complex) เขตอุตสาหกรรมทั่วไปและศูนย์กระจายสินค้า
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพิจารณาแนวทางสนับสนุนเพื่อจูงใจภาคเอกชนให้ลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญ ได้แก่ 1) การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (2558-ปัจจุบัน) รวมประมาณ 20,500 ล้านบาท (เป็นการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ประมาณ 10,600 ล้านบาท การจัดตั้งธุรกิจใหม่ 6,500 ล้านบาท และโครงการลงทุนของเอกชนในพื้นที่พัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราดและกาญจนบุรี 3,400 ล้านบาท)
2) มาตรการทางภาษีของกรมสรรพากรเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (ให้ผู้ขอใช้สิทธิสามารถลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นระยะเวลา 10 ปี) คณะรัฐมนตรี (เมื่อ 14 พ.ค. 2562) ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาของมาตรการฯ ซึ่งเดิมสิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ 31 ธ.ค. 2560 โดยให้ขอใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 - 30 ธ.ค. 2563
3) โครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2558 – 2562 และส่วนใหญ่ดำเนินการได้ตามแผน ซึ่งโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ อาทิ สะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 ลานจอดและอาคารผู้โดยสารใหม่ของท่าอากาศยานแม่สอด ทางหลวงแนวใหม่ 4 ช่องจราจรพร้อมสะพานข้ามแดนบริเวณชายแดนอรัญประเทศ (หนองเอี่ยน) ด่านศุลกากรหนองคายแห่งใหม่ ด่านศุลกากรนครพนมแห่งใหม่ นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว และโครงการที่จะทยอยแล้วเสร็จในปี 2562-2563 เช่น ด่านศุลกากรแม่สอดแห่งใหม่ ด่านศุลกากรอรัญประเทศแห่งใหม่ (ป่าไร่) นิคมอุตสาหกรรมสงขลา ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ
4) การบริหารจัดการแรงงาน แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รวมประมาณ 270,000 คน (ต.ค. 60 – เม.ย. 62) และมีการพัฒนาฝีมือแรงงานไทยประมาณ 10,000 คน รวมทั้งมีการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ในพื้นที่ชายแดน