(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 3.6% หลัง Q1/62 โตชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 21, 2019 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2562 ขยายตัว 2.8% เทียบกับการขยายตัว 3.6% ในไตรมาสก่อนหน้า ในด้านการใช้จ่ายมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายของรัฐบาล ในขณะที่การส่งออกสินค้าปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า ในด้านการผลิต การผลิตภาคเกษตรและสาขาไฟฟ้า ก๊าซฯ ขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนการผลิตสาขาอุตสาหกรรม สาขาการขายส่ง การขายปลีกฯ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขนส่งฯ และ สาขาการก่อสร้างชะลอตัวเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว

ขณะที่ทั้งปี 62 คาด GDP จะโตที่ 3.6% จากประมาณการอัตราเติบโตทั้งปีนี้คาดการณ์ในระดับ 3.3-3.8% โดยเป็นการปรับกรอบจากครั้งก่อนที่ 3.5-4.5%

"เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ขยายตัว 2.8% เป็นการขยายตัวที่ชะลอลงจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลก และปัญหาจากสงครามการค้าที่ทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศชะลอตัวลง ส่งผลให้สภาพัฒน์ต้องปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ใหม่ เหลือ 3.3-3.8% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.6%"นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/62 ที่ขยายตัวได้ 2.8% นั้น ถือว่าเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 17 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 4/57

"สิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ไม่มากเท่าที่ควร เป็นผลจากการลงทุนของภาครัฐ และการใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจที่ยังทรงตัวเท่าเดิม...ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง โดยอาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่มากเท่าที่ควร คือ ในช่วงเลือกตั้ง ที่ทำให้การตัดสินใจในเชิงธุรกิจต้องรอความนิ่งจากการเมืองก่อน ดังนั้นหากการเมืองนิ่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ คิดว่าบรรยากาศต่างๆ จะกลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณของปี 63 ที่จะเข้าสู่กระบวนการด้านรัฐสภา และประกาศใช้ได้ทันในเดือนต.ค.62" เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ

ทั้งนี้ แนวทางการบริหารเศรษฐกิจไทยในปี 62 เห็นว่ารัฐบาลต้องพยายามหาตลาดส่งออกให้ได้มากขึ้น เพื่อทำให้การส่งออกของไทยปีนี้เติบโตได้ไม่น้อยกว่า 3% นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยคือ ภาคการท่องเที่ยวที่ต้องพยายามรักษาฐานรายได้จากการท่องเที่ยวไว้ไม่ให้น้อยไปกว่า 2.1 ล้านล้านบาท รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐในส่วนของการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งถ้าเป็นไปตามที่กำหนดไว้ ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ขยายตัวได้ในระดับ 3.6%

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจโลกเป็นอีกปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือ ลดความเสี่ยง ลดผลกระทบ และหาตลาดส่งออกใหม่เพิ่มเติม ขณะที่ปัจจัยที่น่าจะสามารถควบคุมได้ คือปัจจัยการเมืองในประเทศ ซึ่งหากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็ว ก็จะยิ่งทำให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ และการเจรจาการค้าต่างๆ สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างเต็มที่

"สภาพัฒน์เชื่อมั่นว่า เมื่อฟอร์มรัฐบาลได้เสร็จ ความนิ่งทางการเมืองจะเกิดขึ้น รัฐบาลปริ่มน้ำหรือไม่ปริ่มน้ำ ก็เป็นเรื่องที่ประเทศไทยเคยผ่านมาแล้วหลายครั้ง คิดว่าน่าจะสามารถบริหารนโยบายต่างๆ ไปได้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คืออยากให้มีรัฐบาลโดยเร็ว ที่จะนำไปสู่ความชัดเจนในการขับเคลื่อนนโยบาย...3 ปัจจัยนี้ จะเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ การส่งออก การท่องเที่ยว และความนิ่งทางการเมือง เพราะตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ของไทยยังดีอยู่ ทั้งเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน การบริโภค การลงทุนภาคเอกชนที่ยังแข็งแกร่ง" เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ

ด้านนายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 62 ลงมาอยู่ในกรอบ 3.3-3.8% (ค่าเฉลี่ย 3.6%) จากกรอบเดิมที่ 3.5-4.5% (ค่าเฉลี่ย 4%) เป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/62 ที่เติบโตน้อยกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 4% ตามที่เคยคาดไว้เดิมจึงเป็นไปได้น้อยลง

นอกจากนี้ สภาพัฒน์ยังได้ปรับลดสมมติฐานสำคัญที่ใช้ในการประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยใหม่ ได้แก่ 1.การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ลดลงเหลือ 3.6% จากเดิม 3.8% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น 2.รายรับของนักท่องเที่ยว ลดลงเหลือ 2.21 ล้านล้านบาท จากเดิม 2.24 ล้านล้านบาท 3.ปรับลดอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐในปีงบประมาณ 62 ลงเหลือ 65% จากเดิม 70% และ 4.อัตราแลกเปลี่ยนทั้งปี ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเป็น 31.10-32.10 บาท/ดอลลาร์ จากเดิม 31.50-32.50 บาท/ดอลลาร์

ทั้งนี้ มองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวได้ดีขึ้นกว่าในครึ่งปีแรก เนื่องจากเชื่อว่าการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะกลับมาเติบโตดีขึ้น ภายหลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมีนโยบายที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่การส่งออกจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากผลของปริมาณการนำเข้าสินค้าเพื่อสะสมสต็อกในช่วงก่อนหน้านี้เริ่มลดลง จึงทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น กิจกรรมทางการค้าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง รวมไปถึงอุปสงค์ภายในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ฐานการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ เพียงแต่สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ การบริโภคภาคครัวเรือน ซึ่งฐานรายได้ของภาคครัวเรือนส่วนหนึ่งมีผลจากรายได้ของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก

"ดังนั้นหากปล่อยให้การส่งออกและการท่องเที่ยวชะลอตัว ก็จะมีผลย้อนกลับไปสู่รายได้ครัวเรือน และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่อาจจะต่ำกว่าคาด ดังนั้นนี่คือสาเหตุที่เราถึงบอกว่าต้องให้ความสำคัญกับการส่งออก และการท่องเที่ยวในปีนี้" รองเลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ